กลุ่มแบงก์อู้ฟู่ 5.4 หมื่นล้าน Q1 กรุงไทย-SCB กำไรรูด

ประกาศออกมาแล้วสำหรับผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) 11 แห่ง ของงวดไตรมาส 1/2561 โกยกำไรร่วม ๆ 5.44 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาส 1/2560 (YoY) สะท้อนภาพธุรกิจแบงก์ยังสามารถทำกำไรอู้ฟู่ แม้ต้องเผชิญภาวะแข่งขันดุหรือถูกรุมเร้าจากผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ บนโลกดิจิทัลแบงกิ้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแบงก์ 11 แห่ง ส่วนใหญ่โชว์ตัวเลขกำไรเพิ่มขึ้นได้สวย ยกเว้นธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่กำไรวูบถึง 20% เหลือ 6.79 พันล้านบาท ตามด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) หดลง 4.6% แต่ยังคงเป็นผู้นำทำกำไรสูงสุดในกลุ่มอยู่ที่ 1.14 หมื่นล้านบาท เมื่อดูกลุ่มแบงก์ใหญ่ที่โตสวยเรียงกันมา อย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกสิกรไทย แบงก์กลางก็โตดีเช่นกัน ไม่ว่าธนชาต (TBANK) และทหารไทย (TMB) แบงก์เล็กที่โตพรวดพราด นำโดยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ตามด้วยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHBANK) และ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO)

กลุ่มแบงก์ในไตรมาสแรก ส่วนใหญ่ยังสามารถทำรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ “เพิ่มขึ้น” และบางแบงก์มีกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ เช่น SCB, BAY แต่ก็มีบางแบงก์ที่มีรายได้ดอกเบี้ยลดลง อาทิ KTB และ TMB โดย TMB ระบุว่า รายได้ดอกเบี้ยลดลง 2% แต่รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิเพิ่มขึ้น 35% มาจากแบงก์แอสชัวรันซ์และกองทุนรวม

ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยรวม 11 แบงก์อยู่ที่ราว 4.41 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.87% จากไตรมาส 1/2560 ขณะที่ NPL Ratio ทั้งระบบเฉลี่ยอยู่ที่ 3.19% ของสินเชื่อรวม ส่วนการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญยังคงเพิ่มขึ้นประมาณ 5.96% โดยแบงก์ที่ตั้งสำรองหนี้ฯมากสุด คือ KBANK ตามด้วย BBL และกรุงไทย

ขณะที่ฝั่งนายแบงก์ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กำไรสุทธิงวดไตรมาสแรกปีนี้ของธนาคารลดลง 20.51% จากไตรมาส 1/2560 สาเหตุหลัก ๆ มาจากรายได้ดอกเบี้ยลดลง 1,587 ล้านบาท หรือ 7.17% ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี ตั้งแต่ พ.ค. 2560 เป็นต้นมา ขณะที่การเติบโตสินเชื่อโดยรวมค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) อยู่ที่ 3.07% ซึ่งลดลง 0.40% จากไตรมาส 1/2560

อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 7.75% เกิดจากการขยายตัวจากผลิตภัณฑ์การขายประกัน ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 924 ล้านบาท หรือ 7.33% ซึ่งมาจากค่าใช้จ่ายสำรองเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ไตรมาสแรกปีนี้ธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.84% โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นราว 2.63% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้กู้ยืมตามธุรกรรมซื้อคืน โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (net interest margin : NIM) อยู่ที่ระดับ 3.37% แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 2.61% ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง แต่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 4.71% จากค่าธรรมเนียมรับการจัดการกองทุนและการให้สินเชื่อ

ด้านธนาคารกรุงเทพระบุว่า ไตรมาสแรกธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 17,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% ขณะที่ NIM อยู่ที่ 2.34% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 14,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูง 31.8% ซึ่งมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมบริการกองทุนรวมและสินเชื่อ, กำไรสุทธิจากเงินลงทุน

นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า กำไรสุทธิไตรมาสแรกของธนาคารลดลง 4.6% เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายทางการตลาดในการขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะลูกค้าบนระบบดิจิทัล และมีการลงทุนด้านดิจิทัลตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร

แนวโน้มธุรกิจกลุ่มแบงก์ในปีนี้ นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส มองว่า ปีนี้ทั้งปีคาดการณ์กำไรโดยรวมของกลุ่มแบงก์ 10 แห่ง อยู่ที่ 1.99 แสนล้านบาท โต 7% จากปีก่อน ซึ่งมาจากการขยายตัวของสินเชื่อปีนี้คาดจะเติบโตได้ราว 6% โตเหนือกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่คาดอยู่ที่ 4% โดยสินเชื่อที่ยังขยายตัวได้ดี คือสินเชื่อรายย่อยคาดโตอยู่ที่ 6-7% ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีคาดขยายตัว 4-5% เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว หลังจากหนี้เสียผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว และสินเชื่อรายใหญ่คาดโต 4-5% ที่น่าจะได้รับผลดีจากรัฐมีการลงทุนชัดเจนขึ้นในปีนี้

“เรายังมองเอ็นพีแอลกลุ่มแบงก์ปีนี้ทรงตัว หลังจากที่ไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.2% ของสินเชื่อรวม ซึ่งปีนี้เอ็นพีแอลอาจไม่ลดลงเร็ว เพราะสินเชื่อยังไม่ได้โตก้าวกระโดด ด้าน NIM เฉลี่ยทั้งระบบ ไตรมาส 1/2561 คาดอยู่ที่ 3.09% ซึ่งปีนี้ีก็ทรงตัว”

นางสาวอุษณีย์กล่าวว่า ปัจจัยที่น่ากังวลคือจับตาเกณฑ์ความเข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการตั้งสำรองเตรียมรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่เริ่มใช้ปี 2562 และการดำรงสภาพคล่อง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อธนาคารขนาดเล็ก


ชีพจรธุรกิจแบงก์จะเต้นรัวแค่ไหน บนสมรภูมิแข่งเดือด เพื่อสร้างรายได้และกำไรให้เติบโตในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือปีนี้ คงต้องจับตากันต่อไป