EIC มองส่งออกทั้งปีโต 7.5% หลังไตรมาสแรกโตต่อเนื่อง 11.3 เปอร์เซ็นต์

มูลค่าการส่งออกไทยเดือน มี.ค. ขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ 7.1%YOY นำโดยการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงเคมีภัณฑ์และพลาสติก ที่เติบโต 49.0%YOY และ 15.3%YOY ตามลำดับ

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงเติบโตสอดคล้องกับภาคการผลิตของโลก เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ รวมถึงแผงวงจรไฟฟ้า ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 23.3%YOY และ 19.0%YOY อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวสูงถึง 9.7%YOY จากการส่งออกยางพาราและน้ำตาลที่หดตัวลง 50.2%YOY และ 4.1%YOY ตามลำดับ อันเนื่องมาจากราคายางพาราและน้ำตาลในตลาดโลกที่ตกต่ำ

ด้านตลาดการส่งออกเติบโตดีในเกือบทุกตลาดส่งออกสำคัญ ยกเว้นการส่งออกไปยังจีนที่หดตัว 8.7%YOY เนื่องจากการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ลดลงตามราคายางพาราในตลาดโลก ทั้งนี้ การส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2018 เติบโตที่ 11.3%YOY ซึ่งนับเป็นการขยายตัวรายไตรมาสที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี

มูลค่าการนำเข้าเติบโตต่อเนื่องที่ 9.5%YOY จากการนำเข้าสินค้าในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิงที่เติบโตกว่า 13.2%YOY ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวกว่า 18.8%YOY ตามแนวโน้มการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในสินค้ากลุ่มดังกล่าว ทั้งนี้ การนำเข้าในไตรมาสแรกของปี 2018 เติบโตที่ 16.2%YOY

โดยอีไอซีปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกปี 2018 อยู่ที่ 7.5% จากเดิมที่ 5% เศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ดีในปี 2018 ส่งผลให้ความต้องการสินค้าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยกองทุนเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตปริมาณนำเข้าสินค้าทั่วโลกในปี 2018 อยู่ที่ 5.7%YOY จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวราว 4.3%YOY ปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งไทยยังได้ต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP กับสหรัฐฯ ต่อเนื่องในปี 2018-2020 ซึ่งช่วยคลายความกังวลต่อผลกระทบของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทย
ในขณะที่ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีต่อไทยยังค่อนข้างจำกัด แต่ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันอาจได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยอีไอซีได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2018 อยู่ที่ 68 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 26%YOY (จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล)

อย่างไรก็ดี เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับคู่ค้าสำคัญ และราคาสินค้าเกษตรบางประเภท เช่น ยางพารา และน้ำตาล ที่ยังตกต่ำ ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกไทยในระยะต่อไป ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้นอาจสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2018 เติบโตได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 4.0%

อีไอซีปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของมูลค่าการนำเข้าปี 2018 อยู่ที่ 12.2% จากเดิมที่ 9.2% โดยเติบโตตามความต้องการสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวตามการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น