ธปท.ออนทัวร์แบงก์ พ.ค.นี้ เช็กความพร้อมรับ IFRS9

ธปท.ได้ฤกษ์ พ.ค.เดินสาย “ตรวจสอบ” แบงก์ประจำปี ส่องความพร้อมรับมือเกณฑ์บัญชีใหม่ IFRS9 และประเมินผลกระทบของแต่ละแบงก์ ระบุการปรับตัวขึ้นกับพอร์ต-คุณภาพลูกค้า ชี้แบงก์ส่วนใหญ่ตั้งสำรองหนี้ระดับสูงเกินเกณฑ์ มั่นใจกระทบไม่มาก เผยช่วงที่ผ่านมาหนี้เอ็นพีแอลเริ่มนิ่ง หากเศรษฐกิจฟื้นมีแนวโน้มหนี้เสียลดลงได้ ยกเว้นกลุ่มเกษตร

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไป ธปท.จะเดินสายออกตรวจสอบการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบประจำปีอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามในรอบปีนี้ ธปท.จะมีตรวจสอบเพิ่มเติม คือ แต่ละแบงก์มีการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงาน เพื่อให้รองรับเกณฑ์ปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 อย่างไรบ้าง รวมถึงการประเมินถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ขณะที่มาตรฐานบัญชีใหม่นี้จะประกาศใช้ตามกำหนดคือ ต้นปี 2562

“เกณฑ์บัญชี IFRS9 นั้นเป็นมาตรฐานสากล ที่บอกรายละเอียดอยู่แล้วว่า แบงก์ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานบัญชีใหม่นี้ ในส่วนของ ธปท.เราคงไม่มีการผ่อนหรือปรับอะไร เพราะที่ผ่านมา เราได้เฮียริ่ง (เปิดรับฟังความคิดเห็น) ร่วมกับแบงก์ตลอดเวลา รวมถึงการเตรียมพร้อมที่รับเกณฑ์ใหม่ IFRS9 ซึ่งเวลานี้แบงก์ก็ต้องไปดูพอร์ตลูกค้าตัวเองว่า เกณฑ์นี้จะทำให้พอร์ตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะแต่ละพอร์ตสินเชื่อ และคุณภาพลูกค้าของแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่มีเกณฑ์ออกมาเป็นโมเดลกลางให้แบงก์ปฏิบัติก็อาจไม่ตอบโจทย์ แต่ท้ายที่สุดก็เชื่อว่าการนำมาปฏิบัติใช้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา และมั่นใจว่าเมื่อมาตรฐานใหม่นี้มีผลบังคับใช้ ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้จะพร้อม” นางฤชุกรกล่าว

ขณะที่ประเด็นการตั้งสำรองหนี้ตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 อาจจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับโมเดลในการตั้งสำรองผ่านเครื่องชี้วัดใหม่ ที่สะท้อนถึงระดับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าได้มากขึ้น ดังนั้น แบงก์จะต้องกลับไปดูว่า แต่ละพอร์ตสินเชื่อ หรือลูกค้าแต่ละรายเป็นอย่างไร เพื่อจะได้รับมือให้สอดคล้องกับการตั้งสำรองหนี้ตามมาตรฐานใหม่

อย่างไรก็ตาม ธปท.มั่นใจว่า ธนาคารพาณิชย์น่าจะมีการบริหารจัดการได้ เพราะปัจจุบันระดับการตั้งสำรองหนี้ของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว แต่อาจจะมีเพียงบางแบงก์เท่านั้นที่อาจต้องปรับการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นมาตามเกณฑ์ปฏิบัติของมาตรฐานบัญชีใหม่

“แม้เกณฑ์ใหม่ (IFRS9) จะทำให้แบงก์ต้องปรับตัวบ้าง แต่วันนี้เราไม่ค่อยห่วงนัก เพราะสำรองของแบงก์โดยรวมอยู่สูง เกินเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด อาจจะปรับตัวเฉพาะบางแบงก์บ้างที่ต้องปรับสำรองหนี้ขึ้นมาให้ได้ตามเกณฑ์ของมาตรฐานบัญชีใหม่” นางฤชุกรกล่าว

นางฤชุกรกล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งระบบว่า ยอดเอ็นพีแอลเริ่มนิ่งแล้ว และมีแนวโน้มหนี้เสียจะลดลงได้ในปีนี้ หากว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะจากการติดตามของ ธปท.ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า หนี้เสียบางกลุ่มเริ่มลดลง จะมีเพียงบางเซ็กเตอร์เท่านั้นที่ยังเพิ่มขึ้น แต่ก็มีอัตราชะลอตัวแล้ว เช่น ภาคเกษตร

“ธปท.ยังไม่เห็นความเปราะบางเพิ่ม เพราะเท่าที่ดูในช่วง 2 เดือนแรกของปี ก็พบว่าเอ็นพีแอลเริ่มนิ่ง คุณภาพหนี้ดีขึ้นบ้าง เพราะเศรษฐกิจปัจจุบันค่อย ๆ ฟื้นตัว เพียงแต่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ดังนั้นก็เชื่อว่าหากเศรษฐกิจยังเติบโตได้ต่อเนื่อง คุณภาพหนี้ก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ ธปท.ก็ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเหมือนเดิม” นางฤชุกรกล่าว