สนช.-ภาคเอกชน เร่งพัฒนาไทยรับเทรนด์ใหม่ ICO ชี้ทางต้องกำกับดูแลควบคู่การพัฒนาเทคโนโลยี

สนช.เผย ICO เป็นหนึ่งในเครื่องมือระดมทุนที่สตาร์ทอัพให้ความสนใจ ดังนั้นภาครัฐต้องพัฒนาและกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ยอมรับหากตั้งเก็บภาษีที่เกี่ยวกับ ICO 15% อาจทำให้ตลาดชะงัก ด้านภาคเอกชน ชี้การเก็บภาษีรายได้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ต้องปรับให้เหมาะสม เพราะมิฉะนั้นอาจเป็นการบีบให้คนบางส่วนหันไปทำธุรกรรมในต่างประเทศ

นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย FinTech และประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาพระราชบัญญัติระบบชำระเงิน สภานิติบัญญัติ (สนช.) กล่าวในงานสัมมนา ICO IN ACTION SEMINAR : ยุทธการก้าวสู่ ICO ที่จัดโดยนิตยสาร MBA ว่า การระดมทุนผ่านเหรียญดิจิทัล หรือ ICO (initial coin offering) นั้นเป็นเทคโนโลยีใหม่ และเป็นเครื่องมือในการระดมทุนของผู้ประกอบการให้สามารถทำธุรกิจและดำรงความเป็นเจ้าของธุรกิจได้

ดังนั้นหน่วยงานของรัฐต้องพัฒนาและเข้ามากำกับดูแลอย่างเหมาะสมเพื่อให้ตลาดทุนแนวใหม่นี้สามารถเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและธุรกิจได้จริง ป้องกันไม่ให้ผู้ที่มีความคิดในทางที่ไม่ถูกต้องเอาไปใช้ประโยชน์ในทางเสียหาย โดย ICO ถือเป็นส่วนงานที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ดูแล จึงอยู่ระหว่างการกระบวนการออกเกณฑ์กำกับดูแล
ส่วนเรื่องที่มีการพิจารณาออกเกณฑ์การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัลนั้น ในกรณีที่ซื้อขายแล้วมีกำไร ก็ให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% รวมถึงภาษีเงินปันผลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) นั้นมองว่าอาจมีส่วนให้ตลาด ICO ชะงักเล็ดน้อย เพราะภาษีถือเป็นต้นทุนการทำธุรกิจ แต่ทางภาครัฐก็อยู่ระหว่างการพิจารณาในรายละเอียดเพื่อการพัฒนาตลาดอย่างมีคุณภาพ

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ก่อตั้งโครงการขอนแก่นพัฒนาเมือง (KKTT)และโครงการจังหวัดพัฒนาเมือง ประธานบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช. ทวี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษา ICO เพื่อการระดมทุนเพราะเป็นช่องทางที่น่าสนใจ

ส่วนความคิดเห็นกรณีเกณฑ์การเก็บภาษีของภาครัฐ มองว่าอาจกระตุ้นในนักลงทุนกันไปทำธุรกรรมในต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันสามารถซื้อ ICO ได้ในรูปแบบข้ามประเทศ ก็ทำให้นักลงทุนหาช่องทางอื่นเพื่อป้องกันรายได้ลดลง ในขณะเดียวกันมีข้อเสนอว่า หากธนาคารกลายเป็นตลาดในการแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี่ (สกุลเงินดิจิทัล) อาจส่งผลให้นักลงทุนจากต่างชาติ ที่สนใจลงทุนผ่าน ICO เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และเกิดการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด

นายชลเดช เขมะรัตนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฟินเทค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทที่เตรียม ICO ในตลาดอยู่ระหว่างรอความชัดเจนของภาครัฐ ว่าจะมีเกณฑ์ออกมาในรูปแบบใด โดยเฉพาะเรื่องการเก็บภาษีและ VAT ที่ยังไม่มีความชัดเจน แต่คาดว่าภายในปีนี้จะมีเกณฑ์ออกมา

ADVERTISMENT

“หน้าที่การเสียภาษีจากรายได้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่มองว่าการเก็บภาษีกรณี ICO ควรอยู่บนพื้นฐานของหลักทรัพย์เหมือนหุ้น เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น ส่วนต่างจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี่ อาจเก็บเหมือนหุ้นที่เก็บภาษีอยู่ 15% ผลตอบแทนจากหุ้นที่เก็บภาษีอยู่ 10%” นายชลเดชกล่าว