คลินิกแก้หนี้เวอร์ชั่น 2 ธปท.ผ่อนเกณฑ์ดึงคนเข้าโครงการ

ถือว่าผิดคาดไปมาก สำหรับโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปั้นออกมากับมือ ซึ่งวาดหวังไว้ว่าจะสามารถตอบโจทย์ลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้เสีย และเป็นลูกหนี้มากกว่า 2 สถาบันการเงินโดยมียอดหนี้ค้างชำระไม่เกิน 2 ล้านบาท โครงการนี้ หวังจะเข้ามาให้ผ่อนภาระหนี้อันหนักอึ้งหรือมีหนี้สินพะรุงพะรังลงได้ ซึ่งได้มอบหมายให้ “บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท” หรือ บสส. เข้ามาประสานการเจรจาและเป็นตัวกลางปรับโครงสร้างหนี้

แต่ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา กลับไม่ได้ผลตอบรับเท่าที่ควร จากข้อมูลการรายงานของ “บสส.” ชี้ว่า มีผู้ผ่านคุณสมบัติและสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้น้อยมาก เพียง 594 รายเท่านั้น จากผู้ที่สนใจสมัครเข้าโครงการทั้งหมด 33,736 ราย

ดังนั้น ธปท.ในฐานะผู้ผลักดันโครงการ จึงได้ตัดสินใจเข้ามาปรับเกณฑ์ เพื่อเปิดทางให้ลูกหนี้สามารถเข้ามาพึ่งพา “คลินิกแก้หนี้” แห่งนี้ได้ โดยเกณฑ์ล่าสุดที่ออกมา ได้แก่ 1.การเปิดให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จากเดิมจำกัดเฉพาะคนที่มีเงินเดือนประจำเท่านั้น 2.ขยายระยะเวลาสำหรับคนที่เป็นหนี้เสียในบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล บัตรกดเงินสด ตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2561 สามารถเข้าโครงการนี้ได้ด้วย จากเดิมที่กำหนดเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียก่อน 1 พ.ค. 60

3.ได้มีการขยายไปถึงกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี แต่ยังไม่มีคำพิพากษาให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ด้วย จากเดิมให้เฉพาะลูกหนี้ที่ไม่ถูกฟ้องดำเนินคดีเท่านั้น

การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ “ฤชุกร สิริโยธิน” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า เนื่องจาก ธปท.ยังมองเห็นปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 77.5% ของจีดีพี และยังพบว่าหนี้เสียส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปี ดังนั้นการแก้ไขเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ครั้งนี้ น่าจะช่วยลดหนี้เสียในระบบให้ลดลงได้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่อายุยังน้อย

“ในอดีตแม้ว่าจะมีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการนี้ไม่มาก แต่อนาคตก็เชื่อว่าเมื่อมีการแก้เกณฑ์แล้วลูกหนี้จะเข้ามาได้มากขึ้น ทั้งจากคุณสมบัติที่เปิดกว้างขึ้น และมาจากการแก้กฎหมาย พ.ร.ก.ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ที่แก้ให้ บสส.สามารถบริหารหนี้ให้น็อนแบงก์ได้ด้วย วันนี้การแก้กฎหมายยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา ก็คาดว่าเมื่อผ่านก็จะมีลูกหนี้น็อนแบงก์เข้าระบบจำนวนมาก”

ขณะที่ “ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ” ประธานกรรมการ บสส. แจกแจงว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการมีผู้เข้าโครงการและปฏิบัติตามเกณฑ์ บสส.ทุกด้าน ทำให้วันนี้มีผู้ที่สามารถออกจากโครงการได้เพียง 1 รายเท่านั้น จากผู้ที่ผ่านคุณสมบัติทั้งหมดที่ 594 ราย และปัญหาที่พบส่วนใหญ่ของคนที่ไม่สามารถเข้าโครงการได้นั้น หลัก ๆ ก็เป็นลูกหนี้น็อนแบงก์ ที่มีราว 7-8 พันราย จาก 3 หมื่นกว่ารายที่สมัครเข้าร่วมโครงการเข้ามา และอีกกลุ่มคือคนที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลเข้ามาสมัครเข้าร่วมโครงการด้วย

ส่วนความกังวลของการขยายระยะเวลาออกมาถึงก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2561 อาจส่งผลให้ลูกหนี้บางคนที่จะหยุดชำระหนี้เพื่อหวังเข้าคลินิกแก้หนี้นั้น “ปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวเชื่อมั่นว่า ลูกหนี้คงไม่ยอมเสียประวัติ เพื่อแลกกับการเข้าโครงการ เพราะจะมีผลเสียอีกเยอะที่ตามมา การปรับแก้เกณฑ์ของคลินิกแก้หนี้ในรอบนี้ เป็นการแก้เกมที่ถูกเวลา ถูกจุดมากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตามดูผลตอบรับของลูกหนี้ที่มีปัญหากันต่อไป ว่าจะมีผู้ผ่านเข้าโครงการนี้มากขึ้นหรือไม่