คลังปั้น “KTB-TMB” รวมกิจการ เปิดเกมรุกเทียบแบงก์ภูมิภาค

แฉคลังออกแบบมาตรการภาษีหวังควบรวม “KTB-TMB” ดันสินทรัพย์รวมเกิน 4 ล้านล้าน เทียบชั้นแบงก์มาเลย์เปิดเกมรุกภูมิภาค ยอมแลกรัฐสูญรายได้ภาษี 1.4 พันล้านบาท ด้าน ผู้ว่าการ ธปท.ยอมรับขนาดธุรกิจเป็นอุปสรรคให้บริการลูกค้า หนุนแบงก์ถือโอกาสควบรวมกิจการ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การควบรวมกิจการระหว่างธนาคารกรุงไทย (KTB) กับธนาคารทหารไทย (TMB) จะเกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ทางกระทรวงการคลัง ได้ออกแบบมาเพื่อการควบรวม 2 แบงก์นี้โดยตรง เพราะต้องการให้แบงก์ไทยมีขนาดใหญ่ในระดับที่สามารถชี้นำตลาดได้ และสามารถก้าวไปแข่งขันในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะกับคู่แข่งที่สำคัญอย่างแบงก์มาเลเซียและแบงก์สิงคโปร์ได้ ซึ่งขนาดสินทรัพย์รวมของ KTB กับ TMB ที่รวมบริษัทย่อยด้วยนั้น เมื่อรวมกันจะสูงกว่า 4 ล้านล้านบาท

“หลังจากนี้ก็เป็นขั้นตอนที่บอร์ดแต่ละแบงก์จะให้ความเห็นชอบ จากนั้นก็ต้องทำการสวอปหุ้นกัน โดยต้องแจ้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย”

ทั้งนี้ มาตรการภาษีที่ออกมานั้น จะช่วยให้แบงก์ที่เกิดจากการควบรวม มีเงินทุนเพียงพอไปแข่งขันและลงทุนในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยมีบริการที่ครอบคลุมและหลากหลาย ทั้งในเรื่องการให้บริการลูกค้ารายย่อย และการให้บริการลูกค้ารายใหญ่ รวมถึงธุรกิจวาณิชธนกิจ ดังนั้น แม้ว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 600-1,400 ล้านบาท แต่จะถูกชดเชยด้วยการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้น เช่น การลงทุนปรับปรุงระบบ core banking และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศประมาณ 3,000-7,000 ล้านบาทต่อรายที่ควบรวมกิจการ เป็นต้น

“กระทรวงการคลังต้องการให้มีแบงก์ไทย ที่เป็น regional banks ซึ่งมีขนาดสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาทขึ้นไป สามารถแข่งขันกับพวกแบงก์มาเลเซียได้ จึงออกแบบให้แบงก์ที่ควบรวมกันแล้วมีสินทรัพย์รวมเกินกว่า 4 ล้านล้านบาท สามารถหักรายจ่ายจากการควบรวมได้ 2 เท่า หรือ 100% ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ถ้าสินทรัพย์ต่ำกว่านี้ก็หักรายจ่ายได้ลดหลั่นลงไป”

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนให้เกิดการควบรวมธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ที่ออกมา ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีของธนาคารพาณิชย์ โดยมาตรการจะมีผลถึงปี 2565 และจะช่วยให้สถาบันการเงินมีต้นทุนทางการเงินลดลง และส่งเสริมให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันขนาดของธุรกิจ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญของสถาบันการเงิน

โดยประการแรก หากธุรกิจธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะมีความสามารถในการให้บริการลูกค้าได้หลากหลายขึ้น ซึ่งจะช่วยให้แบงก์บริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น ประการที่ 2 ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยปัจจุบันมีมากขึ้น และไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาสถาบันการเงินไทยยังมีขนาดไม่ใหญ่มากพอในการให้บริการธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ และประการที่ 3 ธุรกิจสถาบันการเงินทั่วไป เป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากขนาด หรือ economy of scale เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นก็ทำให้มีต้นทุนต่อหน่วยในการให้บริการลดลง

“ส่วนใครจะควบรวมกับใคร คงไม่สามารถพูดได้ ไม่สามารถลงรายละเอียดว่าเป็นแบงก์ใด หรือกลุ่มใดได้ โดยแต่ละสถาบันการเงินจะต้องพิจารณาถึงจุดเด่นของตัวเองด้วยว่า ต้องการเสริมในเรื่องใดที่ต้องการให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งขนาดของธุรกิจไม่ได้เป็นข้อจำกัดเฉพาะการแข่งขันในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันในระดับภูมิภาคด้วย”


นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาถือเป็นเรื่องที่ดี และเอื้อประโยชน์ในเชิงโครงสร้างที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีขนาดใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น เมื่อเกิดปัญหาก็จะไม่กระทบมาก ส่วนการควบรวมจะเกิดขึ้นกับแบงก์ใดนั้น ต้องบอกว่าเป็นไปได้ทั้งหมด ซึ่งต้องขึ้นกับสถานการณ์ นโยบายผู้บริหาร และมติผู้ถือหุ้น