ธ.ก.ส. ประเดิมซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ชวนแบงก์รัฐและพาณิชย์ ร่วมโครงการ

ฉัตรชัย ศิริไล

ธ.ก.ส. เปิดโครงการ BAAC Carbon Credit ซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต นำร่อง จ.ขอนแก่น จำนวน 400 ตันคาร์บอน มูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท พร้อมชวนธนาคารรัฐและพาณิชย์ บริษัทจดทะเบียน ซื้อขายคาร์บอนเครดิต พร้อมเริ่ม ไตรมาสที่ 2 ปีบัญชี 67

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานเปิดโครงการ BAAC Carbon Credit และการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย นำร่องชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 400 ตันคาร์บอน (ที่ได้รับการรับรองปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเครดิต เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566)

โดย ธ.ก.ส. รับซื้อในราคากึ่ง CSR ตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1.2 ล้านบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกษตรกรในชุมชนจะมีรายได้ 842,100 บาท เพื่อสนับสนุนชุมชนในการดูแลสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์เป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2065

นายฉัตรชัยกล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2 ปีบัญชี 67 ก็มีแผนที่จะนำโครงการ BAAC Carbon Credit นี้นำเสนอเชิญชวนให้ทั้งกลุ่มธนาคารรัฐ-พาณิชย์ บริษัทเอกชน ทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศและไม่จดทะเบียน หากมีองค์กรใดสนใจจะทำการซื้อคาร์เครดิต กับชุมชนธนาคารต้นไม้ที่ ธ.ก.ส. ดูแล ทาง ธ.ก.ส. ก็พอเป็นตัวกลางช่วยอำนวยความสะดวกให้

และในอนาคตหากมีองค์กรอื่น ๆ เข้ามาดำเนินโครงการในลักษณะนี้ ทาง ธ.ก.ส. ก็มีความยินดี เพราะมองว่า ยิ่งมีโครงการแบบนี้เยอะเท่าไหร่ เม็ดเงินที่ได้ก็ยิ่งกระจายสร้างรายได้ให้เกษตรกรเร็วขึ้น

“เราเชื่อว่าการที่ ธกส. มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจริงในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เป็นตัวอย่างให้องค์กรใหญ่ๆ เห็นทิศทางการบริหารจัดการคาร์บอนมากกว่าแค่การจัดการบริหารลดการใช้พลังงานในองค์กร และเชื่อว่าราคาที่ ธ.ก.ส. ซื้อขายในครั้งนี้ จะเป็นพื้นฐานให้องค์กรต่าง ๆ ซื้อขายคาร์บอนเครดิตไม่ลดต่ำไปกว่านี้” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกป่าตามแนวพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการธนาคารต้นไม้ จนปัจจุบันมีชุมชนธนาคารต้นไม้ 6,814 ชุมชน มีสมาชิก 124,071 คน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนในโครงการกว่า 12.4 ล้านต้น มูลค่าต้นไม้กว่า 43,000 ล้านบาท และการยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่า มีการนำต้นไม้ที่ปลูกมาแปลงเป็นสินทรัพย์ เพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินและนำมาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. สมาชิกในชุมชนมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้/ป่าไม้ ปีละ 116 ล้านบาท และเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ด้านหลักการคิดคำนวณต้นไม้ 1 ต้น ช่วยสร้างปริมาณคาร์บอนเครดิตได้เฉลี่ย 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ซึ่งพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ปลูกต้นไม้ได้เฉลี่ย 100 ต้น/ไร่ จะได้ปริมาณคาร์บอนเครดิต 950 กิโลกรัมคาร์บอนต่อปี ณ ราคาขายกึ่ง CSR 3,000 บาทต่อตันคาร์บอน (อัตราคำนวณรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 70 : 30) กล่าวคือ เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เช่น ค่าขึ้นทะเบียนต้นไม้ในแต่ละต้น การตรวจนับและประเมิน การออกใบรับรอง เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการขาย

ADVERTISMENT

ดังนั้น เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายที่ร้อยละ 70 ของราคาขาย หรือประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี หรือกรณีปลูกต้นไม้แบบหัวไร่ปลายนา จะสามารถปลูกได้เฉลี่ย 40 ต้น/ไร่ คิดเป็น 380 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ต่อปี จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาทต่อไร่ต่อปี

โดยปัจจุบันมีชุมชนที่ได้รับการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกและได้รับใบประกาศเกียรติคุณ LESS จาก อบก. แล้ว 84 ชุมชน ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้กว่า 2.7 ล้านตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนเงินทุนให้กับชุมชนธนาคารต้นไม้ในการกักเก็บคาร์บอนแล้ว จำนวนกว่า 3.8 ล้านบาท

นายฉัตรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส. พร้อมขยายผลการสร้างคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ไปยังชุมชนที่เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้ โดยสนับสนุนการปลูกป่าเพิ่มในที่ดินของตนเองและชุมชน ปีละประมาณ 108,000 ต้น ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะนำมาซื้อ ขายได้กว่า 510,000 ตันคาร์บอน ภายใน 5 ปี