ดอลลาร์แข็งค่า หลังผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งแตะนิวไฮ

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (23/4) ที่ระดับ 31.33/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/4) ที่ระดับ 31.31/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ตลอดทั้งสัปดาห์โดยได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น เนื่องมาจากการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ปรับตัวสู่ระดับ 3.035% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรัฐบาลประเภทอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.219% ในคืนวันพุธ (25/4) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 อย่างไรก็ดีหลังจากที่เฟดประกาศปรับลดงบดุล และลดวงเงินการซื้อพันธบัตรตามมาตราการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ก็ได้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เริ่มปรับตัวขึ้น ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะปรับตัวอยู่ในช่วง 3.0-3.5% ในปลายปีนี้

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ โดยยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 694,000 ยูนิต หลังจากแตะระดับ 667,000 ยูนิต ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 128.70 ในเดือนเมษายน จากระดับ 127 ในเดือนมีนาคม อีกทั้งตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.6% ในเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.6% สำหรับจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานปรับตัวลดลง 24,000 ราย สู่ระดับ 209,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2512 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 230,000 ราย ขณะที่นักลงทุนรอจับตาดูตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 1/2561 ของสหรัฐ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ ประจำเดือนเมษายน โดยมหาวิยาลัยมิชิแกนในวันศุกร์ (27/4) เพื่อหาแนวโน้มสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทั้งนี้การประชุมเฟดครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 1-2 พฤษภาคมนี้

ด้านกระทรวงพาณิชย์ของไทย ได้เปิดเผยในวันจันทร์ (23/4) ว่า การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2561 มีมูลค่า 22,236.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.06% และมีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,094.7 ล้านเหรียญสหาฐ เพิ่มขึ้น 9.47% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 1,268.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการส่งออกในช่วง 3 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 62,829.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.29% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี และการนำเข้ามีมูลค่า 60,872.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.16% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 1,959.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.32-31.65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (27/4) ที่ระดับ 31.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลของค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (23/4) ที่ระดับ 1.2272/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/4) ที่ระดับ 1.2294/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐตลอดทั้งสัปดาห์ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก นอกจากนี้ยังได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจของยูโรโซนที่มีสัญญาณชะลอตัว โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของยูโรโซน อยู่ที่ 55.2 ในเดือนเมษายน ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขเดือนมีนาคม นอกจากนี้ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหหรัฐ ที่ระดับ 1.2065/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในวันศุกร์ (27/4) หลังจากที่ประชุม ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.4% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% ขณะเดียวกัน ECB ประกาศคงวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ระดับ 3 หมื่นล้านยูโร/เดือน จนถึงเดือนกันยายน ทางด้านนายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ได้แถลงภายหลังการประชุมว่า ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นของ ECB แม้มีสัญญาณการชะลอตัวในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีการใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินยังคงมีความจำเป็นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.2065-1.2293 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2079/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ทางด้านค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (20/4) ที่ระดับ 107.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (20/4) ที่ระดับ 107.60/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยตลอดทั้งสัปดาห์ จากการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับค่าเงินสกุลหลัก นอกจากนี้ในวันศุกร์ (27/4) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และเดินหน้าโครงการซื้อพันธบัตร โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อระยะยาว ให้เคลื่อนไหวที่ระดับ 0% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วประเทศยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่าเป้าหมาย 2% แม้ว่าเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งขึ้นก็ตาม พร้อมทั้งได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2561 ลงสู่ระดับ 1.3% จากระดับ1.4% อย่างไรก็ดี BOJ ได้ตัดสินใจยกเลิกการกำหนดช่วงเวลาการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2562 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่นนั้นอ่อนแรงลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานทั่วประเทศ ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด แต่นับรวมราคาพลังงานนั้น ปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่มีการขยายตัว 1.0% โดยรวมราคาอาหารสด แต่นับรวมราคาพลังงานนั้น ปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่มีการขยายตัว 1.0% โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.63-109.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/4) ที่ระดับ 109.36/38
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ