หวั่นเศรษฐกิจฟื้นช้าจี้รัฐกระตุ้นครึ่งปีแรก

ซูเปอร์มาร์เก็ต

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 62.9 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 สูงสุดในรอบ 47 เดือน “ธนวรรธน์” ชี้ปัจจัยหนุนจากบ้านเมืองมีเสถียรภาพ แนะรัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวตั้งแต่ครึ่งปีแรกช่วยดันจีดีพี แจงค่าดัชนียังเคลื่อนไหวต่ำกว่า 100 ชี้ว่าผู้บริโภคยังกังวล “เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า-ค่าครองชีพสูง-ดอกเบี้ย”

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ม.ค. 2567 ปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพ ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นรูปธรรมในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย

“หอการค้ายังประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัว 3-3.5% ซึ่งยังไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเลต หากมีโครงการนี้เกิดขึ้นเศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตถึง 4% แต่ทั้งนี้ หอการค้ายังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่วิกฤต ยังไม่มีความเสี่ยง และโครงการดิจิทัลวอลเลตจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ก็ไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ ยังมองว่าการท่องเที่ยวไทยในปีนี้จะมีการเติบโต คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยทั้งปีรวม 35-40 ล้านคน โดยตั้งแต่ต้นปีแรกถึงต้นเดือน ก.พ. 2567 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วกว่า 4 ล้านคน จึงเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญของประเทศในปีนี้

นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ม.ค. 2567 อยู่ที่ระดับ 62.9 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 47 เดือนนับตั้งแต่ มี.ค. 2563 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่น หลังจากจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายลดค่าครองชีพ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการเมืองมีเสถียรภาพ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นกลับมาปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 56.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 59.5 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 72.2 ซึ่งดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 2566 และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เช่นกัน

ADVERTISMENT

“อย่างไรก็ดี ค่าดัชนียังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน อิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซา อาจยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยปัจจัยเหล่านี้มีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค”