เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน

แฟ้มภาพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนในระหว่างสัปดาห์ เงินบาททยอยอ่อนค่าลง สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ขยับแข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 3.0% ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี) นอกจากนี้ ทิศทางที่อ่อนค่าของเงินบาท ยังสอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ตลอดจนสถานะขายสุทธิในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ (27 เม.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.59 หลังแตะ 31.64 ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือนในระหว่างสัปดาห์ เทียบกับ 31.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 เม.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 เม.ย.-4 พ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.40-31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด (1-2 พ.ค.) ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ตลอดจนข้อมูล PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนเม.ย. รวมถึงรายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนี Core PCE Price Index เดือนมี.ค. นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามข้อมูล PMI เดือนเม.ย. ของอีกหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,778.02 จุด ลดลง 1.29% จากสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ดี มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ปรับลดลง 5.81% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 61,451.33 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 486.04 จุด ลดลง 0.37% จากสัปดาห์ก่อน

ดัชนีตลาดหุ้นไทย ได้รับแรงกดดันจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น อีกทั้งยังมีแรงขายทำกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมีเข้ามากดดันเพิ่มเติมในระหว่างสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ดัชนี SET สามารถฟื้นตัวกลับมาเล็กน้อยในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางสัญญาณทางการเมืองระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีแนวโน้มดีขึ้น

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 เม.ย.-4 พ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,770 และ 1,750 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,790 และ 1,805 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการทยอยประกาศผลการเงินดำเนินงานของบจ.งวดไตรมาส 1/2561 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ได้แก่ รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนมี.ค. และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพี (เบื้องต้น) งวดไตรมาส 1/2561 ของกลุ่มยูโรโซน และ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนเม.ย. ของญี่ปุ่นและจีน