ศูนย์วิจัยฯ ออมสิน เผยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ไตรมาสแรกปี 61 ส่งสัญญาณดีขึ้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เผย ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ไตรมาส 1 ปี 2561 ส่งสัญญาณดีขึ้น

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ประจำไตรมาส 1 ปี 2561 ได้ดำเนินการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ทั่วประเทศจำนวน 2,200 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนี GSI ไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 45.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2560 ที่อยู่ระดับ 44.9 เนื่องจากประชาชนระดับฐานรากเชื่อมั่นและรู้สึกว่าภาครัฐ มีมาตรการ/โครงการที่มุ่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน และโครงการไทยนิยม ยั่งยืน สำหรับ GSI ในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้าประชาชนระดับฐานรากมีมุมมอง ที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 47.8 เนื่องจากจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และรัฐบาลจะมีมาตรการ/โครงการที่สนับสนุนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีความคาดหวังว่าจะมีการเลือกตั้งในอนาคต

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ เทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า ความเชื่อมั่นด้านการจับจ่ายใช้สอย ความสามารถในการชำระหนี้ และการออมปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนด้านการหารายได้ โอกาสในการหางานทำ และภาวะเศรษฐกิจปรับลงเล็กน้อย ทั้งนี้ ระดับการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงก่อนวันหยุดยาว (เทศกาลสงกรานต์) ประชาชนระดับฐานรากมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ การเดินทางกลับภูมิลำเนา ค่าของขวัญ ของฝาก และท่องเที่ยว อีกทั้งมาตรการภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือให้ประชาชนมีสภาพคล่องในการใช้จ่ายมากขึ้นจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยฯ มองว่ายังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังติดตามคือด้านรายได้ของประชาชนฐานราก เนื่องจากรายได้เกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มหลักของประเทศยังมีแนวโน้มชะลอลงอย่างต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตร และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน รวมถึงค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นไปก่อนหน้าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด