ตั้งไข่สถาบัน “InFinIT” ฟูมฟักฟินเทคต่อยอดบริการแบงก์รัฐ

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) กำลังรุกไล่อุตสาหกรรมแบงก์อย่างหนัก เราจึงได้เห็นการปรับตัวของแบงก์ไทยในช่วงที่ผ่านมา

ขณะที่ภาครัฐเอง ขณะนี้ก็มีแนวคิดที่จะส่งเสริม FinTech อย่างจริงจังเช่นกัน โดยล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เม.ย. เห็นชอบแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรม FinTech ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

“วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” รมช.คลัง บอกว่า กระทรวงการคลังจะจัดตั้ง “InFinIT” หรือสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงินขึ้น อยู่ภายใต้มูลนิธิเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่จะตั้งขึ้นก่อน โดยเบื้องต้นจะใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (กองทุน SFIs) ในการดำเนินการ และต่อไปจะมีการเสนอขอใช้งบประมาณประจำปีด้วย

ทั้งนี้ ระยะแรกปี 2561-2562 จะใช้เงินจากกองทุน SFIs จำนวน 650 ล้านบาท เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องการผลักดันให้ SFIs ในฐานะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่มีสัดส่วน 25% ของระบบการเงิน มีส่วนร่วมในการศึกษาและพัฒนาอุตสาหกรรม FinTech และนำมาปรับใช้กับการดำเนินงานของ SFIs ต่อไป

โดย “พรชัย ฐีระเวช” ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ขณะนี้เงินของกองทุน SFIs มีเพียงพอที่จะใช้สนับสนุน “InFinIT” แม้จะยังมีภาระต้องใช้เงินเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) อีกราว 16,000 ล้านบาทก็ตาม

ขณะที่ในระยะที่ 2 ปี 2563-2565 ทางกระทรวงการคลังจะขอจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 513 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานของ “InFinIT” แบ่งได้เป็นปีงบประมาณ 2563 ขอรับจัดสรร 177 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2564 ขอรับจัดสรร 168 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2565 ขอรับจัดสรร 168 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ออกแบบให้ “InFinIT” สามารถหารายได้จากการจัดกิจกรรมและหลักสูตรการศึกษา รวมทั้งการได้รับเงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตร เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและช่วยให้ “In-FinIT” สามารถดำเนินงานโดยใช้เงินรายได้ของตนเองได้ในอนาคต

ขณะที่ “กุลยา ตันติเตมิท” ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่า “InFinIT” ตั้งขึ้นมา เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นที่เกี่ยวข้องกับ FinTech (FinTech startups) และพัฒนาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของอุตสาหกรรม FinTech (FinTech ecosystem) โดยจะทำหน้าที่บ่มเพาะและส่งเสริม FinTech startups ให้สามารถต่อยอดความคิดให้เป็นนวัตกรรมทางการเงิน, เสริมสร้างให้ FinTech startups สามารถพัฒนานวัตกรรมในเชิงการค้าได้ 3) สร้างเครือข่ายของภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

4) ผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการทางการเงินในประเทศไทยในทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับ FinTech ของแบงก์รัฐ หรือ SFIs และ 5) ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งทักษะที่เกี่ยวข้องกับ FinTech เพื่อสร้างผู้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรม FinTech หรือผู้ประกอบการในอนาคต (talent pipeline)

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังบอกว่า การจัดตั้ง “InFinIT” จะส่งผลดีต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตของ FinTech โดยกระทรวงการคลังคาดหวังให้ SFIs มีการนำ FinTech มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งดำเนินการตามพันธกิจและนโยบายของรัฐบาลได้ครบถ้วนมากขึ้น

ที่สำคัญ ต้องการให้เกิดการพัฒนาที่นำไปสู่การที่ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง FinTech ในภูมิภาค (regional FinTech hub) ต่อไป

“การเริ่มดำเนินงานของสถาบัน InFinIT อาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกราว 6 เดือน หรือมากกว่านั้น เพราะยังต้องรอการตั้งมูลนิธิขึ้นมาก่อน โดยสถานที่ ต้องรอดูว่า ปลัดกระทรวงการคลังคนใหม่ จะเห็นชอบให้เลือกจามจุรีสแควร์ เป็นที่ตั้งสถาบัน ตามที่ปลัดกระทรวงการคลังคนเก่าเห็นชอบไว้หรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว

สถาบัน “InFinIT” จะเป็นความหวังสู่อนาคตของประเทศไทยอีกหน่วยงานหนึ่ง แต่ก่อนจะก้าวไปถึงการเป็น regional FinTech hub คงต้องตั้งไข่ให้ได้ก่อน