ค่าเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยหลังเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ย ตลาดจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.69/71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (2/5) ที่ระดับ 31.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ (2 พ.ค.) ว่า ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวขึ้นในระดับปานกลาง ส่วนการขยายตัวของการจ้างงานในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานั้น มีความแข็งแกร่งและอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ข้อมูลที่มีการเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า อัตราการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนอยู่ในระดับปานกลาง หลังจากมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 4 ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรยังคงขยายตัวแข็งแกร่ง ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อรายปี ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงาน เคลื่อนตัวเข้าใกล้ระดับ 2% ส่วนข้อมูลเงินเฟ้อที่ได้จากการคำนวณมาตรวัดของตลาดนั้น ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจการคาดการณ์เงินเฟ้อระยะยาวบ่งชี้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ คณะกรรมการ FOMC มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการจ้างงานให้เติบโตอย่างเต็มที่และหนุนราคาให้มีเสถียรภาพ คณะกรรมการคาดว่า ด้วยการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะขยายตัวปานกลางในระระกลาง และภาวะในตลาดแรงงานจะยังคงมีความแข็งแกร่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบรายปีนั้น คาดว่าจะปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายในระยะกลางของคณะกรรมการ FOMC ขณะที่แนวโน้มความเสี่ยงในระยะใกล้ของเศรษฐกิจยังคงมีความสมดุล เมื่อพิจารณาถึงภาวะตลาดแรงงานและเงินเฟ้อที่เป็นไปตามการคาดการณ์แล้ว คณะกรรมการได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ที่ระดับ 1.50-1.75% ขณะที่จุดยืนด้านนโยบายการเงินนั้น ยังคงอยู่ในลักษณะผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาวะตลาดแรงงานให้ปรับตัวดีขึ้นต่อไป และจะช่วยหนุนเงินเฟ้อให้ปรับตัวสู่ระดับ 2% อีกครั้ง

ในการตัดสินใจเกี่ยวกับช่วงเวลาและขนาดในการปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคตนั้น ทางคณะกรรมการจะประเมินภาวะเศรษฐกิจทั้งในแง่ของความเป็นจริงและการคาดการณ์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายของการจ้างงานสูงสุดและเงินเฟ้อที่ 2% การประเมินนี้จะพิจารณาข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงมาตรวัดภาวะตลาดแรงงาน ปัจจัยชี้วัดเกี่ยวกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และคาดการณ์เงินเฟ้อ และการพิจารณาถึงความคืบหน้าทางการเงินและสถานการณ์ในต่างประเทศ คณะกรรมการจะจับตาความคืบหน้าเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ทั้งในแง่ความเป็นจริงและการคาดการณ์ คณะกรรมการคาดว่าภาวะทางเศรษฐกิจจะปรับตัวในแนวทางที่จะสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นมีแนวโน้มที่จะยังคงต่ำกว่าระดับที่คาดการณ์ไว้ในระยะยาวต่อไปสักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทิศททางที่แท้จริงของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจตามข้อมูลที่กำลังจะมีการเปิดเผยต่อจากนี้ ซึ่งนักลงทุนกำลังจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในวันศุกร์นี้ (4/5) ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.66-31.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.66/61.68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (3/5) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1975/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (2/5) ที่ระดับ 1.2005/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากเฟดส่งสัญญาณแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่ดีขึ้นและมีโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วกว่าเดิม ส่งผลให้นักลงทุนมีแรงเทขายเงินยูโรออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนที่เริ่มชะลอตัวลง โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัว 0.4% ในไตรมาสแรก โดยลดลงจากระดับ 0.7% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วเมื่อเทียบรายปี เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัว 2.5% ในไตรมาสแรก นอกจากนี้ ยูโรสแตทยังเปิดเผยว่า อัตราการว่างงานในยูโรโซนทรงตัวในเดือนมีนาคม โดยอยู่ที่ระดับ 8.5% ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1947-1.2008 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1972/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (3/5) เปิดตลาดที่ระดับ 109.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (2/5) ที่ระดับ 109.82/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่นักลงทุนกำลังจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 109.55-109.87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 109.56/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัยของสหรัฐที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดุลการค้าเดือน มี.ค. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน เม.ย. จากมาร์กิต ดัชนีภาคบริการเดือน เม.ย.จากสถาบัน จัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) คำสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน มี.ค. และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน เม.ย.


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.6/-2.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.7/-0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ