ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย 8 หมื่นล้าน ตลาดไซด์เวย์ตุนหุ้นกลาง-เล็กเฟ้นปันผลดี

2 โบรกเกอร์สแกนตลาดหุ้นไทยไซด์เวย์ลงในกรอบเดิมๆ ไร้ข่าวใหม่เฟดคงดอกเบี้ย 1.50-1.75% จับจ้องสัญญาณขึ้น ดบ.ถี่ กดดันส่วนต่างดอกเบี้ยไทยแคบลง บีบเงินต่างชาติไหลออก เผย 4 เดือนต่างชาติเทขาย 8 หมื่นล้าน แนะจัดพอร์ต พ.ค. ถือหุ้น 50% จับจังหวะซื้อหุ้นปันผล เน้นหุ้นกลาง-เล็ก ระวังติดบ่วงหุ้นใหญ่แพง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ช่วงกลางปี 2561 โดยสิ้นวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปิดที่ 1,790.80 จุด ไหลลงต่อเนื่องเทียบจากต้นปี (2 ม.ค.)เปิดที่ 1,778.53 จุด ซึ่งตลาดหุ้นดีดขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 1,838.96 จุด (24 ม.ค.) หลังจากนั้นร่วงลงต่ำสุดอยู่ที่ 1,724.98 จุด (4 เม.ย.) ก่อนจะขยับขึ้นมาเคลื่อนไหวออกด้านข้าง (ไซด์เวย์) ขาลงต่ำกว่าแนวหลัก 1,800 จุด ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิต่อเนื่องต้นปีถึง 3 พ.ค. 2561 ยอดรวมขายสุทธิ 83,949 ล้านบาท

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิด ผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเดือน พ.ค.นี้ยังคงมีความผันผวนขาลง โดยให้กรอบดัชนีแนวรับสำคัญที่ 1,755-1,760 จุด และถัดไปอยู่ที่ 1,725 จุด ส่วนแนวต้านแรก 1,785-1,790 จุด และถัดไป 1,810 จุด

โดยปัจจัยหลักยังมาจากต่างประเทศ ได้แก่ สัญญาณจากผลตอบแทนของพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ของรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปียังคงเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าไตรมาส 2 นี้จะเคลื่อนไหวมาที่ 3-3.25% ทำให้กระแสเงินทุนต่างประเทศยังไหลออก ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้

อีกปัจจัยมาจากดัชนี MSCI (MSCI Index) เป็นดัชนีอ้างอิงที่บริษัท Morgan Stanley Capital International (MSCI) จัดทำขึ้น ได้นำหุ้นในตลาด A-shares ของประเทศจีน มาคำนวณในดัชนี MSCI ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อน้ำหนักการลงทุนของหุ้นในประเทศอื่น ๆ ลดลง ซึ่งมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะปรับพอร์ตตามน้ำหนักที่ลดทอนของหุ้นในประเทศอื่นตาม ซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย จึงคาดว่าในเดือน พ.ค.นี้ มีแนวโน้มเงินต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จะไหลออกประมาณ 4-5 พันล้านบาท

“ในเดือน พ.ค.นี้ เรายังไม่แนะนำหุ้นที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน เนื่องจากราคาหุ้นในกลุ่มนี้ได้ปรับตัวขึ้นมากกว่ามูลค่าหุ้นที่เหมาะสมแล้ว แต่ถ้าตอนนี้หุ้นอาจขึ้นมา ก็เพราะความกังวลเรื่องสหรัฐจะมีการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ แต่เรามองว่ากลุ่มยุโรปจะปรับข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านใหม่” นายอภิชาติกล่าว

ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม คือ ด้านการเมือง ที่รอคำวินิจฉัยของร่างพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ (พ.ร.บ.ที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กับ ส.ว.) ว่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากมีความชัดเจนทางการเมือง อาจเป็นโอกาสที่ต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนเพิ่ม

นายอภิชาติกล่าวถึงการเลือกหุ้นลงทุนว่า เน้นหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ โดยให้หาจังหวะช่วงหุ้นลงก็ “ทยอยซื้อ” หุ้นบลูชิพ (หุ้นใหญ่) ที่มีค่าเบต้า (ความผันผวนของราคาหุ้น) ระดับต่ำกว่า 1% หรือเลือกหุ้นที่ผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้น และเป็นหุ้นที่มีงบการเงินที่ดี

ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นในเดือน พ.ค.นี้ ยังปรับตัว side way ลง แต่ไม่น่าจะปรับลงมากนัก แต่ก็ยังไม่เห็นสัญญาณปรับขึ้น เนื่องจากยังไม่เห็นเม็ดเงินใหม่ที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ โดยดูได้จากหุ้นขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) เกิน 3 แสนล้านบาท จำนวนราว 14 หลักทรัพย์ ที่มีสัดส่วนรวม 46% ของมาร์เก็ตแคปทั้งตลาด 17-18 ล้านล้านบาท ซึ่งราคาหุ้น 14 ตัวนี้ ไม่ได้มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาเล่นหรือลงทุน

“ถ้าราคาหุ้น 14 ตัวนี้ไม่ได้ขยับ ภาพรวมตลาดหุ้นก็ขยับยาก โดยเฉพาะตอนนี้หุ้นบางตัว เช่น ปตท. ราคาเกินมูลค่าที่เหมาะสมไปแล้ว ภาวะตลาดหุ้นแบบนี้ เราประเมินดัชนีมีแนวรับ 1,750 จุด และแนวต้าน 1,800 จุด และแนะว่าน่าจะเลือกลงทุนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นรายตัว และในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน แนะนำให้ซื้อสะสมในหุ้นที่มีให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลด้วย ส่วนการจัดพอร์ตลงทุนในระยะสั้นถึงกลาง ยังแนะนำให้ถือหุ้นในพอร์ตสัดส่วน 50% ของพอร์ตรวม ซึ่งเรามองว่า เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยจะไปถึง 1,815 จุด ภายในสิ้นปีนี้” นายเทิดศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในระยะข้างหน้า หลังจากที่ผลประชุมรอบล่าสุดในต้นเดือน พ.ค. เฟดมีนโยบายคงดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.50-1.75% และโอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้ ซึ่งจะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ดอกเบี้ยไทยยังไม่ปรับขึ้นในปีนี้ (ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง) อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินทุนต่างชาติไหลออกเกิดขึ้น