นักลงทุนยังเชื่อมั่นต่อดอลลาร์สหรัฐ จับตาดูข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม 2561 ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/5) ที่ระดับ 31.81/83 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (7/5) ที่ 31.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการเทขายทำกำไรบางส่วนของนักลงทุน

ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากตัวเลขภาคแรงงานและตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง รวมถึงความเห็นของสมาชิกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยล่าสุดนายบอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ในช่วงขาขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องติดตามในวันนี้คือ ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศว่าจะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ (JCPOA) หรือไม่ โดยเลื่อนจากก่อนหน้าที่แจ้งว่าจะประกาศในเสาร์ที่จะถึงนี้ รวมถึงถ้อยคำแถลงของประธานเฟด นายเจอโรม พาวเวล เพื่อหาทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไป นอกจากนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ และจีน ถึงแม้ว่าการเจรจาล่าสุดจะมีสัญญาณความร่วมมือที่ดีขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.90/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (8/5) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1917/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/5) ที่ 1.1913/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นอกจากปัจจัยตัวเลขภาคแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอ โดยเมื่อวานนี้มีการประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการในเดือนเมษายน ซึ่งลงต่ำกว่าระดับ 50 จุดเป็นครั้งแรก นับตั้ังแต่เดือนมีนาคม 2017 โดยปรับลดลงสู่ระดับ 48.6 จาก 50.1 ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและตัวเลขยอดค้าปลีกที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้การเคลื่อนไหวระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1906-1.937 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1889/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับค่าเงินเยนในวันนี้ (8/5) เปิดตลาดที่ระดับ 108.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (7/5) ที่ 109.29/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากรายงานประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นรอบ 7-8 มีนาคม ชี้ว่าผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิตขยายตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สมารชิกบางท่านเริ่มแสดงความกังวลต่อต้นทุนของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่เพิ่มขึ้น จะเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.84-109.09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนเมษายน (9/5), ยอดสินค้าคงคลังภาคการค้าส่งเดือนมีนาคม (9/5), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนเมษายน (10/5), การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (10/5) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (10/5) ผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (11/5) และถ้อยคำแถลงของนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (11/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.95/-2.85 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.5/0-0.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

 

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”