ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง บาทอ่อนที่สุดในรอบ 4 เดือน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (7/5) ที่ 31.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (4/5) ที่ 31.76/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนเมษายน โดยเพิ่มขึ้นเพียง 164,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 192,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เพิ่มขึ้น 135,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี ที่ระดับ 3.9% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 4.0% และตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง โดยเฉลี่ยของแรงงานเพิ่มขึ้น 0.15% ในเดือนมีนาคม ซึ่งนักลงทุนมองว่าตัวเลขดังกล่าวยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งในตลาดแรงงานและเป็นปัจจัยสนับสนุนเงินดอลลาร์สหรัฐ และสนับสนุนแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นอกจากนี้แล้วการเจรจาทวิภาคระหว่างสหรัฐ และเกาหลีใต้ได้ข้อสรุปว่า เกาหลีใต้จะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียมอย่างถาวร โดยเกาหลีใต้จะต้องลดการส่งออกเหล็กไปสหรัฐลง 30% นอกจากนี้นายเจอโรม พาวเวล ประธาน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้กล่าวในการประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์ (8/5) ว่า การที่เฟดและธนาคารกลางของชาติพัฒนาแล้วรายอื่น ๆ เริ่มมีการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นนั้น ไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากตลาดเกิดใหม่น่าจะควบคุมดูแลและรับมือได้ ในขณะที่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงว่าสหรับจะถอนตัวจากการทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน แล้วจะใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุดต่ออิหร่าน ในขณะที่นายฮัสซัน รูฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน ได้กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ ระบุว่า การตัดสินใจของผู้นำสหรับ ที่จะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์นั้น เป็นการทำสงครามทางจิตวิทยากับอิหร่าน พร้อมเผยว่าเขาอยากนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับยุโรป, รัสเซียและจีน ที่มีส่วนร่วมในข้อตกลงปี 2015 โดยคำแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์ สร้างความผิดหวังแก่พันธมิตรยุโรป อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอังกฤษ ยืนยันว่า จะยึดมั่นบังคับใช้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านต่อไป แม้ผู้นำสหรัฐตัดสินใจถอนตัวและขู่รื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตรก็ตาม

โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่ามากสุดตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ที่ระดับ 32.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยการอ่อนค่าลงของค่าเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย หลังจากผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 9 พ.ค. ปรากฏว่ากลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้าน “ปากาตัน ฮาราปัน” (พีเอช) นำโดยพรรคความยุติธรรมประชาชน (พีเคอาร์) และพรรคสหเชื้อชาติมาเลเซีย (เบอร์ซาตู) ที่ชู ดร.มหาธีรโมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อายุ 92 ปี เป็นแกนนำ มีชัยชนะเหนือกลุ่มพันธมิตรรัฐบาล “บาริซาน เนชั่นแนล”
(บีเอ็น) นำโดยพรรคสหมาเลเซียแห่งชาติ หรือ “อัมโน” ของนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นับเป็นครั้งแรกในรอบ 61 ปี ที่พรรคอัมโนสูญเสียอำนาจ การบริหารประเทศ แต่ค่าเงินบาทได้ทยอยปรับตัวแข็งค่าหลังจากที่ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือน โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีจะดีดตัวขึ้น 0.3% หลังจากร่วงลง 0.1% ในเดือนมีนาคม โดยระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.66-32.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.94/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลของค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1965/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในเช้าวันจันทร์ที่ (7/5) ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (4/5) ที่ 1.1960/63 ดอลลาร์สหรัฐ/
ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือนมีนาคมปรับตัวลดลงสู่ 54.7 จาก 55.0 ในเดือนก่อนและตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนมีนาคมขยายตัวเพียง 0.1% ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่ 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ประกอบกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการในเดือนเมษายน ซึ่งลงต่ำกว่าระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2017 โดยปรับลดลงสู่ระดับ 48.6 จาก 50.1 ซึ่งสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและตัวเลขยอดค้าปลีกที่ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรยังเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในรอบสามเดือน จากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อของเยอรมนี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศในแถบยุโรปไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปออกไป ในขณะที่ธนาคารอังกฤษ (BoE) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจต BoE ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันนี้ ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจซบเซาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจสู่ระดับ 1.4% ในปีนี้ โดยลดลงจากระดับ 1.8% ที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1821-1.1946 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/5) ที่ระดับ 1.1898/1.1902 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ทางด้านค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (7/5) ที่ระดับ 109.11/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (4/5) ที่ระดับ 109.12/15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนได้รับแรงสนับสนุนจากการที่นักลงทุนหันมาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้นภายใต้สถานการณ์ความตึงเครียดสหรัฐ-อิหร่าน และสหรัฐ-จีน ประกอบกับรายงานประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นรอบ 7-8 มีนาคม ชี้ว่าผู้กำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นมีความเชื่อมั่นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขยายตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สมาชิกบางท่านเริ่มแสดงความกังวลต่อต้นทุนของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่เพิ่มขึ้นจะเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนเงินเฟ้อสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ทั้งนี้ ค่าเงินเยนมีความเคลื่อนไหวระหว่างสัปดาห์ในกรอบระหว่าง 108.74-110.1 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (11/5) ที่ระดับ 109.32/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ