ประธาน ตลท.ยกเครื่องปราบโกง จัด 3 บิ๊กอีเวนต์ฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

“กิติพงศ์” ประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ชูภารกิจใหญ่สุด ฟื้นความเชื่อมั่นตลาดทุนไทย ยกระดับ 8 มาตรการปราบกลโกงตลาดหุ้น บังคับใช้ปลายไตรมาส 2 นี้ เร่งขึ้นทะเบียนนักลงทุนโรบอตเทรด HFT-เพิ่มบทลงโทษโบรกเกอร์เพิ่ม 3 เท่า เตรียมจัด 3 บิ๊กอีเวนต์ปลุกเชื่อมั่น จับตาเคาะชื่อ “ผู้จัดการตลาดหุ้น” คนใหม่ กลาง มิ.ย.นี้

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวาระการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีเวลาทำงานอีก 15 เดือน (ครบวาระ 5 สิงหาคม 2568) ภารกิจใหญ่สุดที่ต้องจัดการ คือ การสร้างความเชื่อมั่นกลับมาให้ตลาดทุนไทย

เพราะตอนนี้การจัดการกับผู้กระทำผิดในตลาดหุ้นถือว่าช้ามาก ยกเว้นคดี บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) และ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ขอความร่วมมือเชิญตำรวจและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาร่วมทำงานเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นคดีใหญ่

โดยฝ่ายจัดการกำลังเร่งดำเนินการยกระดับมาตรการกำกับดูแล ช่วงปลายไตรมาส 2/2567 จะมีการบังคับใช้อีกถึง 8 มาตรการ จากทั้งหมด 14 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การทบทวนหลักทรัพย์ที่ชอร์ตเซลได้ 2.การเพิ่มเกณฑ์ Uptick ขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ พื่อทำให้การทุบราคาทำได้ยากขึ้น 3.การเพิ่ม Circuit Breaker รายหุ้นในกรณีขึ้นลงรุนแรง

4.การเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งไม่เหมาะสม 5.กำหนดให้นักลงทุนประเภท High Frequency Trading (HFT) ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อเปิดเผยตัวตน 6.เพิ่มบทระวางโทษสมาชิกบริษัทหลักทรัพย์ให้สูงขึ้น 3 เท่า 7.การเปิดเผยข้อมูลผู้ลงทุน (ต่างชาติ) ตัวจริง ที่ถือผ่าน NVDR

และ 8.การเปิดข้อมูลการขายชอร์ต (ที่ยังไม่ได้ซื้อคืน) ในแต่ละวัน ซึ่งประเด็นที่ 8 ได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2567

ADVERTISMENT

“อะไรที่ทำได้เร็ว ทำก่อน อย่างกฎระเบียบที่ฟังความเห็น 4 สัปดาห์ อาจจะเฮียริ่งแค่ 2 สัปดาห์ เพื่อให้เกณฑ์มีผลบังคับได้เร็วขึ้น ส่วนเรื่องที่ต้องใช้ระบบก็อาจใช้เวลาอยู่”

ทำหน้าที่ “เรดาร์ดักจับ” ผู้ทำผิด

ศ.พิเศษกิติพงศ์กล่าวว่า สำหรับบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯในปัจจุบัน มีหน้าที่เป็นแค่ผู้ตรวจจับ (Detector) หรือคอยมอนิเตอร์-เฝ้าระวัง การซื้อขายในตลาดหุ้น โดยมีอำนาจสั่งปรับสมาชิกบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่ทำผิดกฎระเบียบเท่านั้น ไม่สามารถจัดการกับคนทำผิดกฎหมายในตลาดหุ้นได้เอง

ADVERTISMENT

โดยหากพบคนกระทำผิด หลังจากเกิดเหตุฝ่ายตรวจสอบจะต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานการซื้อขายในเบื้องต้น ส่งให้อนุกรรมการกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะใช้เวลาภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือไม่เกิน 1 เดือน หลังจากนั้นเป็นขั้นตอนการส่งหลักฐานให้กับ ก.ล.ต. เพื่อกล่าวโทษและดำเนินคดีต่อไป

เพราะฉะนั้น ข้อมูลหลักฐานที่ตลาดหลักทรัพย์ฯส่งให้ ก.ล.ต. ถือว่าทำได้เร็วแล้ว ตอนนี้ส่งเรื่องการทำผิดในตลาดหุ้นให้ ก.ล.ต. เฉลี่ยประมาณ 3-5 ราย/เดือน เรียกได้ว่าเกิดเรื่องแทบทุกเดือนในช่วงนี้

“เราเป็นเหมือนเรดาร์จับรถขับเร็ว ที่ถ่ายรูปส่งให้ตำรวจทางหลวง ซึ่ง ก.ล.ต.จะออกใบสั่งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเขา ถ้าออกใบสั่ง ผู้กระทำผิดยอมจ่ายค่าปรับก็จบ แต่ถ้าไม่ยอมก็ต้องส่งศาลดำเนินคดี”

เตรียมใช้ AI จับโกง

สำหรับกระบวนการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป คือ อยากให้ ก.ล.ต. เข้ามาร่วมมอนิเตอร์เฝ้าระวังกับตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย เพื่อเป็นการทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯได้เตรียมมาตรการป้องปราม โดยใช้ระบบเอไอ (AI) เข้าไปส่องบริษัทจดทะเบียน (บจ.)

ทุกรายที่พบว่ามีความผิดปกติ ทั้งในแง่บัญชี การปล่อยข่าว และการซื้อขายผิดปกติ เช่น กำไรจากเดิมโตระดับ 10% พุ่งขึ้นเป็น 60-70% หรือหุ้นในตลาด mai ที่สร้างราคาขึ้นไประดับ 200-300% แล้วทุบลงมาต่ำกว่าราคาไอพีโอ

รวมไปถึงการมอนิเตอร์รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือแม้แต่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ที่นำหุ้นเข้าตลาด หากเป็นบริษัท FA รายเดิมที่ทำหุ้นไอพีโอต่ำจองบ่อย ๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนรับรู้ด้วย

“ต้องยอมรับว่าตลาดทุนคือ แหล่งคนที่ทุจริตโดยใช้ความไม่รู้ของคนเยอะที่สุด ดังนั้นในยุคของผมจะมุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมาย และการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องตลาดทุนเป็นสำคัญ”

เปิด Central Platform ดูขาใหญ่

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯกำลังยกระดับการตรวจสอบ โดยจัดทำ “ศูนย์ข้อมูลกลาง” (Central Platform) เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลกลางสำหรับบริษัทหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการตรวจสอบการมีอยู่ของ “หลักทรัพย์” ของผู้ลงทุนก่อนขาย เนื่องจากมีประเด็นที่เกิดขึ้นว่า ผู้ลงทุนบางรายอาจจะไม่มีหุ้นในครอบครอง แต่มีการขายหุ้นนั้นออกมา จนเกิดปัญหา

“เรื่องนี้ดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบ ซึ่งสามารถดำเนินการได้เร็ว โดยจะมีบังคับใช้ไตรมาส 4/2567 ทำให้ต่อไปเราจะรู้ได้เลยว่า นาย ก. เปิดบัญชีมาร์จิ้น (บริการบัญชีที่ลูกค้าสามารถกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยวางเงินหรือหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน) ไว้กับ 10 โบรกเกอร์ แต่วันนี้เราไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย เช่น กรณีหุ้นมอร์ฯ”

จับมือ ก.ล.ต. เปิดเผยข้อมูลปั่นหุ้น

ประธานบอร์ด ตลท.กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าหลายคดีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯส่งเรื่องไป ยังค้างอยู่ที่ ก.ล.ต.ค่อนข้างมาก เพราะเขาต้องสอบสวนผู้กระทำผิดและตรวจสอบเส้นทางเงิน ซึ่งใช้เวลานาน แต่อย่างไรก็ดี ทางตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการพูดคุยกับ ก.ล.ต. ถึงเรื่องนี้แล้ว โดยได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะให้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นรายไตรมาส เกี่ยวกับจำนวนเรื่องการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นกรณีปั่นหุ้น, สร้างราคา (อินไซเดอร์) แต่จะไม่เปิดเผยชื่อ

รวมทั้งการเปิดเผยจำนวนคดีที่ค้างอยู่ที่ ก.ล.ต. เพื่อความโปร่งใส ซึ่งเป็นไปตามแนวทางในต่างประเทศ และที่สำคัญ จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนว่า หน่วยงานกำกับดูแลไม่ได้นิ่งเฉย ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2/2567 เป็นต้นไป

“เรื่องการปั่นหุ้นและอินไซเดอร์หุ้นทำกันเป็นแก๊ง เพราะมักเป็นกลุ่มคนเดิม ๆ โบรกเกอร์เดิม ๆ ที่เราพบหลักฐานและส่งให้ ก.ล.ต.ไป และเมื่อจ่ายค่าปรับจบ ก็วนกลับมาทำใหม่ในหุ้นตัวอื่น ซึ่งวงเงินอาจจะไม่เยอะ ครั้งแรก 50 ล้านบาท หรือกำไร 7 แสนบาท-1 ล้านบาท แต่ทำ 10 ครั้ง ก็เป็นหลักสิบล้าน

เพราะพวกนี้คิดแค่ว่าถ้าจับได้ก็แค่จ่ายเงินค่าปรับ 2 เท่าก็จบ เพราะฉะนั้น คณะทำงานเปรียบเทียบปรับไม่ควรให้แก๊งพวกนี้จ่ายค่าปรับ ต้องส่งฟ้องคดีไปเลย แต่อาจจะแค่เสียเวลา ซึ่งมีข้อเสนอเหมือนกันว่า พวกคดีฉ้อโกงไม่ควรมีอายุความ เพราะตอนนี้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ 3-5 ปี หมดอายุก็กลับมา”

ทั้งนี้ ในร่างแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่ ก.ล.ต.ผลักดันเข้าไป ก็จะให้อำนาจ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนได้ โดยข้ามขั้นตอนของตำรวจไป ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ขั้นตอนการดำเนินการรวดเร็วขึ้นมาก โดยกระบวนการสอบสวนจบก็สามารถให้อัยการส่งฟ้องศาลได้เลย

จัด 3 บิ๊กอีเวนต์ปลุกเชื่อมั่น

ศ.พิเศษกิติพงศ์กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมจัดอีเวนต์ใหญ่ช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2567 รวม 3 งานใหญ่ 1.งาน SET in the City 2024 อีเวนต์การลงทุนที่ครบที่สุดแห่งปี สามารถมาอัพเดตเทรนด์ลงทุนจากผู้เชี่ยวชาญ หลากหลายทางเลือกการลงทุน พบกับ 50 สัมมนา เวิร์กช็อปการลงทุน แบบเจาะลึกตรงประเด็น ฟังมุมมองจาก 50 วิทยากรและกูรูชั้นนำ ระหว่างวันที่ 15-16 มิ.ย. 2567 ที่สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์

ตามมาด้วยงานสัมมนาธุรกิจครอบครัว Family Business in the Globalized Asia ระหว่างวันที่ 1-2 ส.ค. 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮเอท เอราวัณ และปิดท้ายด้วยงานเสวนาประจำปีของตลาดหลักทรัพย์ฯ Thailand Focus 2024 ที่โรงแรมดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ระหว่างวันที่ 28-30 ส.ค. 2567 โดยจะเป็นงานการให้ข้อมูลแก่บรรดานักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ เพื่อโอกาสการลงทุนในตลาดประเทศไทยในทุกมิติ

เคาะ “ผู้จัดการ ตลท.” กลาง มิ.ย.

ประธานบอร์ด ตลท.กล่าวต่อว่า ในส่วนการคัดเลือกผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯคนใหม่ เพื่อรับไม้ต่อ นายภากร ปีตธวัชชัย (ครบวาระช่วงกลางเดือนกันยายน 2567) ขณะนี้อยู่ในกระบวนการสรรหาโดยมีผู้สมัครทั้งหมด 8 ราย เป็นคนนอก 7 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงธุรกิจธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์

โดยมีนักวิชาการและนักลงทุนเข้ามาด้วย ตอนนี้มี 1 คน ที่ประกาศตัวต่อสาธารณชนเอง คือ นายอัฏฐ์ ทองใหญ่ อัศวานนท์ ส่วนคนใน 1 ราย คือ นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการตลาด ซึ่งได้มีการสัมภาษณ์ผู้สมัครทั้งหมดไปแล้ว และจะมีการคัดเลือกเพื่อเข้าสัมภาษณ์รอบที่ 2 น่าจะจบช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2567

โดยจะชอร์ตลิสต์ให้เหลือ 2 ราย เพื่อเสนอคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯเคาะเลือกรอบสุดท้าย และเจรจาต่อรองผลตอบแทน คาดว่าประมาณช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2567 จะมีการแต่งตั้ง ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คนใหม่ ได้อย่างแน่นอน

สำหรับผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯคนใหม่ กับกรรมการ ตลท. จะต้องทำงานร่วมกันเป็นลักษณะ “คอหอยกับลูกกระเดือก” คือนโยบายต้องไปด้วยกัน และที่สำคัญ คุณสมบัติของผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯคนใหม่ ต้องมอง New Market Frontier คือมองหาของใหม่ ๆ และอยากทำอะไรใหม่ ๆ รวมทั้งต้องพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ มองถึงการใช้เอไอ หรือเทคโนโลยี เข้ามาช่วยทำงาน รวมทั้งประเมินความเสี่ยงและเปลี่ยนแปลงได้ทัน