ตลาดจับตามองตัวเลข PCE คืนวันศุกร์นี้

เงิน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (27/6) ที่ระดับ 36.62/63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/5) ที่ระดับ 36.68/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ภายหลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นขั้นสุดท้ายของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลง 8.1 สู่ระดับ 69.1 ในเดือน พ.ค. จากระดับ 77.2 ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน โดยต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นและตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 67.4 และ 76.0 ตามลำดับ ส่งสัญญาณว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐยังคงอ่อนแอ

ขณะเดียวกันผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้น 3.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน เม.ย.ที่ระดับ 3.2% ซึ่งปรับตัวลงจากการสำรวจก่อนหน้านี้ที่ระดับ 3.5% นอกจากนี้ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้น 3.0% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จากตัวเลขคาดการณ์ในเดือน เม.ย.ที่ระดับ 3.0% ซึ่งปรับตัวลงจากการสำรวจก่อนหน้านี้ที่ระดับ 3.1%

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือน เม.ย. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือน มี.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับตัวลง 0.9% ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือน เม.ย. หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือน มี.ค. ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1% ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของยอดสั่งซื้อสินค้า

ทั้งนี้ตลาดยังคงจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อไป อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าในคืนวันพฤหัสบดี (30/5) โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต หรือ Beige Book ในวันพฤหัสบดี (29/05) โดยระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงขยายตัวในช่วงต้นเดือน เม.ย. จนถึงกลางเดือน พ.ค. แต่บริษัทต่าง ๆ มีมุมมองเป็นลบมากขึ้นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต ท่ามกลางอุปสงค์ของผู้บริโภคที่อ่อนแอลง

ในขณะที่เงินเฟ้อยังคงปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยรายงานยังระบุว่า การใช้จ่ายด้านค้าปลีกทรงตัวไปจนถึงขยับขึ้นเล็กน้อย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยชะลอตัวลง และยังบ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความอ่อนไหวเกี่ยวกับราคาสินค้า ส่วนในภาวพรวมนั้น ผู้บริภคมีมุมมองที่เป็นลบมากขึ้น ท่ามกลางรายงานเกี่ยวกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะขาลง

อย่างไรก็ตาม หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐมีการเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของ GDP ไตรมาส 1/2567 ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 1.3% ปรับตัวลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 1.6% ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง ซึ่งทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบทุกสกุลเงินหลัก เนื่องจากมีโอกาสที่ FED จะปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ จากเดือนพฤศจิกายนเป็นกันยายน

ADVERTISMENT

โดยนักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ (31/5) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้กำหนดเวลาในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภคและครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผยหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 91.3% ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยหนี้เสียธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.58 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.88% ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวขึ้นจาก 2.79% ในไตรมาสก่อน

ADVERTISMENT

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงในทุกประเภท ติดตามสินเชื่อบัตรเครดิต แนวโน้มหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะสินเชื่อวงเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ขณะที่การจ้างงานในไตรมาส 1/67 ปรับตัวลงเล็กน้อยในภาคเกษตร ส่วนนอกภาคเกษตรยังขยายตัวดี โดยภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2567 พบว่า ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.1% ซึ่งเป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงกว่า 5.7% ในช่วงนอก

ฤดูการทำเกษตรกรรม ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ที่ 2.2% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.6% จากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 9.3 ล้านคน เช่นเดียวกับสาขาการก่อสร้างที่ขยายตัวกว่า 5% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.53-36.96 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดในวันศุกร์ (31/5) ที่ระดับ 36.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (27/5) ที่ระดับ 1.0849/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/5) ที่ระดับ 1.0828/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการอ่อนค่าของดอลลาร์ อย่างไรก็ดี สถาบันวิจัยเศรษฐกิจไอเอฟโอ (Ifo) เผยแพร่รายงานการสำรวจในวันจันทร์ (27/5) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน พ.ค. ของเยอรมนีอยู่ที่ระดับ 89.3 ซึ่งปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือน เม.ย. ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90.4

โดยบ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นด้านธุรกิจของเยอรมนียังคงฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก ขณะที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประสานเสียงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 6 มิ.ย. โดยนาโอลลี เรห์น สมาชิกคณะกรรมการบริหารของ ECB และประธานธนาคารกลางฟินแลนด์กล่าวย้ำในวันจันทร์ (27/5) ว่าเงินเฟ้อในยูโรโซนกำลังปรับตัวลงอย่างยั่งยืน

ขณะที่นายฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ECB กล่าวว่า หากไม่มีปัจจัยอะไรที่สร้างความประหลาดใจ ก็มีแนวโน้มว่า ECB จะสามารถลดระดับการคุมเข้มนโยบายการเงินได้ ส่วนถ้อยแถลงของนายเรห์นและนายเลนสอดคล้องกับนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ซึ่งส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มีการเปิดเผยการสำรวจผู้บริโภคในยูโรโซน ว่าการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอีก 12 เดือนข้างหน้าลดลงสู่ระดับ 2.9% ในเดือนเมษายน จาก 3.0% ในเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 นอกจากนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในอีก 3 ปีข้างหน้าลดลงสู่ระดับ 2.4% ในเดือนเมษายน จาก 2.5% ในเดือนมีนาคม

ทั้งนี้การคาดการณ์เงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ของ ECB ทางสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อยูโรโซนลดลงอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา ก่อนแตะที่ระดับ 2.4% ในเดือนมกราคม แต่ขณะนี้ ECB คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะแกว่งไปมาที่ประมาณระดับปัจจุบันตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ ก่อนที่เงินเฟ้อจะลดลงอีกครั้งและกลับสู่เป้าหมายในปี 2568 ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0786-1.0888 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (31/5) ที่ระดับ 1.0834/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (27/5) ที่ระดับ 156.80/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/5) ที่ระดับ 157.02/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์ อย่างไรก็ดี นายมาซาโตะ คันดะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่นกล่าวเมื่อวันศุกร์ (24/6) ว่า

ญี่ปุ่นพร้อมที่จะดำเนินการที่เหมาะสมในตลาดทุกเวลา เพื่อรับมือกับความเคลื่อนไหวที่มากเกินไปของค่าเงินเยน โดยออกคำเตือนเกี่ยวกับโอกาสที่จะมีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหม่ นอกจากนี้ นายเชจิ อาดาชิ หนึ่งในกรรมการบริหารของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันพุธ (29/5) ว่า แม้ว่าความเคลื่อนไหวในระยะสั้นของเงินเยนจะไม่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการเงิน แต่ BOJ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากค่าเงินเยนมีการอ่อนค่าอย่างหนักและส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่าการปรับขึ้นอาจจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในการประชุมเดือนกรกฎาคม

โดยทางญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนเมษายนว่าอยู่ที่ 1.8% ซึ่งลดลงจากในเดือนก่อนหน้าที่ 2.0% โดยเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับ 2% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2565 แต่ในส่วนของเงินเฟ้อในกรุงโตเกียวเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

โดยข้อมูลเงินเฟ้อของกรุงโตเกียวมักจะเป็นตัวบ่งชี้แนวโน้มเงินเฟ้อของญี่ปุ่น ที่คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วประเทศอาจเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยอัตราเงินเฟ้อในกรุงโตเกียวในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าเงินเฟ้อทั่วประเทศ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากมาตรการสนับสนุนด้านการศึกษาของรัฐบาลนครโตเกียว ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 156.37-157.76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (24/5) ที่ระดับ 157.17/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ