จำนำทะเบียน เข้มปล่อยกู้ ตลาดซึมหนี้เสียพุ่ง หั่นวงเงิน

สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังแข่งเดือด ธนาคาร-น็อนแบงก์ ชี้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ตลาดชะลอตัว-หนี้เสียพุ่ง “เงินติดล้อ” ชี้รายใหญ่ยังโตแรง ผู้ประกอบการรายเล็ก-ห้องแถวลำบาก เผยคุมเข้ม “ลดวงเงินปล่อยกู้-ดันยอดปฏิเสธสินเชื่อแตะ 30% “MTC” มองไตรมาส 2 สัญญาณดีขึ้น ภาคเกษตรรับอานิสงส์เข้าสู่ฤดูฝน “กรุงศรี ออโต้-สมหวัง เงินสั่งได้” ประสานเสียงสถาบันการเงินเข้มปล่อยสินเชื่อ เหตุภาระหนี้ผู้กู้สูง หวั่นเป็นหนี้เสียต้องตามแก้

รายเล็กเหนื่อย-NPL สูง

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในปี 2567 คาดว่าเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 10-15% ชะลอตัวจากปีก่อนขยายตัวค่อนข้างเร็วและสูงเกือบ 20% ส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการเงินให้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ

โดยผู้ประกอบการรายใหญ่จะเติบโตสูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ซึ่งจะมีข้อจำกัดในเรื่องของฐานเงินทุนและแหล่งเงินทุน เนื่องจากมีเครดิตเรตติ้งต่ำ ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมค่อนข้างสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่งผลให้บริษัทท้องถิ่นหรือห้องแถวบางพื้นที่ บางจังหวัดปิดตัวไป เพราะประสบปัญหาต้นทุนการเงินสูง และปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกันจะเห็นว่าปีนี้ตลาดรถจักรยานยนต์ เก๋ง และกระบะ จะเริ่มค่อนข้างทรงตัว หลังจากมีความผันผวนปีก่อน ขณะที่กลุ่มรถบรรทุก จะเป็นกลุ่มที่มีความผันผวนต่อเศรษฐกิจมหภาค ทั้งราคาน้ำมัน งบประมาณที่มีผลต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้บริษัทที่เน้นกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ

“ปีนี้เหมารวมการเติบโตไม่ได้ เพราะแต่ละเซ็กเมนต์มีการเติบโตแตกต่างกัน หลังจากปีก่อนขยายตัวค่อนข้างเร็ว และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทำธุรกิจหลายประเภท เช่น สินเชื่อบุคคล โฉนดที่ดิน แต่หากนับจำนำทะเบียนเฉพาะ 2 ล้อหรือ 4 ล้อ อาจจะโตช้า”

ADVERTISMENT

หั่นวงเงิน-อนุมัติสินเชื่อวูบ

นายปิยะศักดิ์กล่าวต่อไปว่า ในแง่ความต้องการสินเชื่อปีนี้ มองว่าไม่ได้ลดลงจากปีก่อน สะท้อนจากปริมาณธุรกรรมผ่านสาขาและออนไลน์ แต่ยอดการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) ปรับลดลง หรือวงเงินการอนุมัติต่อรายต่ำลง ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายให้ความระมัดระวังมากขึ้น จากปัจจัยเสี่ยงที่ทุกคนมองเห็น เช่น ตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลขยับขึ้นในปี 2565 สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 และต้นทุนการเงินขยับขึ้น แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม รวมถึงผลจากที่มีการกำหนดเพดานดอกเบี้ย ทำให้ความเสี่ยงที่รับกับผลตอบแทนสวนทางกัน

ปีนี้อัตราการอนุมัติสินเชื่อลดลงประมาณ 10% จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90% ปัจจุบันลดเหลือ 70% และวงเงินการอนุมัติต่อราย จะพิจารณาตามความสามารถในการชำระหนี้และราคารถ โดยบริษัทจะให้วงเงินต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) กรณีลูกค้าดี และมีหลักฐานการเงินเฉลี่ยวงเงิน 80-90% ของหลักประกัน และลูกค้ารายใหม่เฉลี่ย 60-70% ซึ่งวงเงินเฉลี่ยตามประเภทรถ เช่น จักรยานยนต์เฉลี่ย 3 หมื่นบาทต่อราย รถเก๋งและกระบะเฉลี่ยไม่ถึง 2 แสนบาทต่อราย และรถบรรทุกเฉลี่ย 4-5 แสนบาทต่อราย

ADVERTISMENT

เงินติดล้อเน้นคุม D/E

นายปิยะศักดิ์กล่าวว่า ปีนี้เงินติดล้อ ตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 10-20% จากพอร์ตคงค้างอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท และธุรกิจประกัน 10-20% จากปีก่อนเบี้ยอยู่ที่ 8,700 ล้านบาท กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจมีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนในการบริการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าฐานรากได้มากขึ้น โดยทุกปีเราจะลงทุนในไอทีและระบบต่าง ๆ หลักร้อยล้านบาท 2.นำข้อมูล (Data) ในการวิเคราะห์ในการอนุมัติสินเชื่อ และ 3.จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จะเน้นการตั้งสำรองหนี้สูงและกู้ยืมน้อยลง ซึ่งสัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) มีผลต่อเรตติ้ง โดยทั้ง 3 กลยุทธ์ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตแข็งแกร่งและไม่ผันผวนมากนัก

“การเติบโตสินเชื่อไม่ยาก แต่การเก็บหนี้จะต้องทำได้ดีด้วย โดยช่วง 3-4 เดือน การเติบโตยังอยู่ในแพลน ด้านประกันติดโล่จะเห็นว่าเติบโตเร็วกว่าตลาด 6 เท่า และรายได้จากธุรกิจประกันไม่มีความเสี่ยง โดยมองว่าดีกรีการแข่งขันไม่ได้ลดลง ปีนี้เราจะเห็นรายใหญ่โตเร็ว แต่การแข่งขันต้องระมัดระวัง และเห็นบางรายแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ”

MTC เข้มปล่อยสินเชื่อ

ด้านนายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในไตรมาส 2/2567 คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าไตรมาสแรก เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้ภาคเกษตรมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น เพื่อลงทุนในการเพาะปลูก และมองไปข้างหน้าเชื่อว่ายังมีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าปีนี้โต 15-20% จากพอร์ตสินเชื่อคงค้าง 1.32 แสนล้านบาท คาดภายในสิ้นปี 2567 พอร์ตสินเชื่ออยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท

โดยจะเห็นว่าตัวเลขหนี้เสีย ทยอยปรับดีขึ้นหลังจากขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในไตรมาส 2/2566 ระดับ 3.36% สูงสุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน และช่วงไตรมาส 4/2566 อัตราการเร่งของหนี้เสียชะลอลง และปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.03% ในไตรมาส 1/2567 อย่างไรก็ดี ถือว่าสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่อัตราหนี้เสียต่ำกว่า 2% โดยปีนี้คาดว่าเอ็นพีแอลจะอยู่ที่ระดับ 3.2-3.5%

“แนวโน้มธุรกิจยังโตได้ดีจากอานิสงส์เข้าสู่ฤดูฝน แต่เราจะเห็นสินเชื่อดรอปอีกทีในไตรมาส 4/67 เพราะเข้าสู่การเก็บเกี่ยว โดยคุณภาพสินเชื่อลูกค้าเกษตรจะขึ้นลงตามราคาพืชผลเกษตร ซึ่งตลอด 5 ไตรมาสที่ผ่านมาคุณภาพสินเชื่อดีขึ้น การเก็บหนี้ก็ดีขึ้น ส่วนวงเงินให้ลูกค้าเราไม่ได้ปรับลดลง แต่จะเพิ่มความระมัดระวังไม่ให้เกินความจำเป็น เฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อราย โดยลูกค้ามีภาระเงินต้นและดอกเบี้ยเฉลี่ย 1,000 บาทต่อเดือน”

ตลาดซึม-หั่นวงเงินสินเชื่อ

นายศุภชัย บุญศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮเวย์ จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “สมหวัง เงินสั่งได้” ในกลุ่มธนาคารทิสโก้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางธุรกิจจำนำทะเบียนรถในปี 2567 มองว่า ความต้องการสินเชื่อยังคงมีต่อเนื่อง แต่สถาบันการเงินให้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากเพดานหนี้ของผู้กู้อยู่ในระดับสูง และรายได้ยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้การพิจารณาสินเชื่อจะดูความสามารถในการชำระหนี้ และต้องมีเงินเหลือเพียงพอในการดำรงชีพ ทำให้วงเงินเฉลี่ยของรถจักรยานยนต์จะเหลือเฉลี่ยเพียง 3,000-4,000 บาท

“ภาพรวมธุรกิจจำนำทะเบียนยังคงซึม ๆ เพราะเศรษฐกิจยังไม่มีปัจจัยบวก สะท้อนผ่านยอดขายรถจักรยานยนต์และรถยนต์ตกลง ผู้ประกอบการต้องระวัง หากปล่อยให้ค้างชำระ กลายเป็นสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) และกลายเป็นเอ็นพีแอล จะต้องตามแก้ไขในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าอีก ดังนั้น การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจะต้องดูความสามารถของลูกค้า”

กับดักหนี้ครัวเรือนสูง

นายคงสิน คงคา ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมการเติบโตสินเชื่อคาร์ ฟอร์ แคช ในปีนี้ ยังอยู่ในสภาวะชะลอตัว เป็นไปตามสถานการณ์ของตลาดโดยรวมท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยกรุงศรี ออโต้ คำนึงถึงศักยภาพในการผ่อนชำระค่างวดของลูกค้าเป็นหลัก ประเมินความสามารถ รายได้ และการชำระค่างวดของลูกค้าในแต่ละรายที่แตกต่างกัน รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ช่วยลูกค้าในการประกอบการตัดสินใจการขอสินเชื่อ และรักษาเสถียรภาพของตลาด ไม่ให้เกิดการก่อหนี้เกินตัว ให้แนวโน้มหนี้เสียอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ณ เดือนมีนาคม 2567 สินเชื่อบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และน็อนแบงก์ มีจำนวนบัญชีทั้งสิ้น 6,175,033 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนบัญชี จากเดือนธันวาคม 2566 ที่อยู่ 5,974,311 ล้านบัญชี

โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 355,944 ล้านบาท เพิ่มจาก 337,192 ล้านบาท โดยมียอดค้างชำระเกิน 3 เดือนอยู่ที่ 8,500 ล้านบาท เพิ่มจากเดือนธันวาคม 2566 ที่อยู่ 7,439 ล้านบาท