สรรพากรเฉือนรายได้ 400 ล้านบาท ดึงธุรกิจรายบุคคลตั้งบริษัท

สรรพากรยอมสูญรายได้ 400 ล้านบาท ต่ออายุมาตรการดึงผู้ประกอบการทำธุรกิจในรูปนิติบุคคล หวังสร้างฐานภาษีระยะยาว “ประสงค์” คาดมีจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มเป็นแสนล้านราย หลังก่อนหน้านี้มีแค่ 7 หมื่นราย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาจัดตั้งเป็นนิติบุคคลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ขยายเวลาออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2561 โดยให้มีผลย้อนหลังไปเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 นั้น มีการประเมินว่า จะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีรวม 400 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี หรือปีละ 80 ล้านบาท (หักรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นเวลา 5 รอบบัญชี) แต่จะสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาวได้ดีกว่า

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การขยายเวลามาตรการอีก 1 ปี คาดว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบุคคลไปจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพิ่มเป็นหลักแสนราย หลังจากก่อนหน้าจัดตั้งเพียงกว่า 7 หมื่นราย จากจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาที่มีราว 8 แสนราย โดยเหตุผลที่ต้องต่ออายุมาตรการ เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการหลายกิจการที่ประสงค์จะเปลี่ยนการประกอบธุรกิจเป็นในรูปนิติบุคคล แต่ดำเนินการไม่ทันในปี 2560

อย่างไรก็ดี มาตรการที่ต่ออายุไปนั้น สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะลดลงจากมาตรการเดิมเล็กน้อย คือ ไม่ได้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนนิติกรรมที่ดิน แต่ยังคงยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เกิดจากการโอนสินค้าคงคลัง

“ถ้าไล่เรียงตามธุรกิจ อย่างธุรกิจค้าทองคำที่มีประมาณ 1.7 หมื่นราย เข้ามาแล้วกว่า 1.5 หมื่นราย ธุรกิจอัญมณีก็มีหลักหมื่นราย แล้วก็ยังมีธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง อย่างเช่น ผู้ประกอบการท่าทราย เป็นต้น ธุรกิจขายเครื่องยนต์เก่า และธุรกิจค้าปลีกที่พบว่า มีหลายรายตามต่างจังหวัด อยากลงบัญชีให้ถูกต้อง แต่ว่า ต้นทุนที่มา ไม่มีใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เราก็ต้องมาร่วมมือกับ 3 กรมจัดเก็บภาษี และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผมเห็นปัญหาและเตรียมจะแก้ไข เพื่อให้เขามีต้นทุน มีหลักฐานที่สมบูรณ์ขึ้น” นายประสงค์กล่าว

นอกจากนี้ก็มีธุรกิจร้านขายยาอีกนับหมื่นรายที่ต้องการเข้าระบบ แต่ยังติดขัดเรื่องการเปลี่ยนใบอนุญาตจากบุคคลเป็นนิติบุคคล ซึ่งต้องประสานกับกระทรวงสาธารณสุขในการแก้กฎกระทรวง โดยขณะนี้ได้ทำเรื่องไปแล้ว

นายประสงค์กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรการจัดทำบัญชีเล่มเดียว ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้เข้าไปตรวจแนะนำ เนื่องจากผู้ที่จดแจ้งส่วนหนึ่งยังลงบัญชีไม่ค่อยถูกต้อง โดยตรวจแนะนำแล้ว 70% ของผู้จดแจ้งกว่า 4 แสนราย ซึ่งส่งผลให้การเก็บรายได้นิติบุคคลทำได้เกินประมาณการไปกว่า 5,000 ล้านบาท ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา และยังพบว่า เอสเอ็มอียื่นรายได้เพิ่มถึง 16% สำหรับภาพรวมจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2561 เดิมคาดว่าจะต่ำกว่าประมาณการราว 2-3 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้คาดว่าจะจัดเก็บได้ดีขึ้น

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่าที่อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ผลพวงจากมาตรการที่ดำเนินการไปในปี 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ 74,517 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2559 จำนวน 10,229 ราย หรือ 16% ถือว่าเพิ่มขึ้นมาก จากปี 2559 ที่ไม่มีมาตรการ ซึ่งมีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ 64,288 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2558 เพียง 4,141 ราย หรือ 7% โดยในปี 2560 กิจการที่จัดตั้งนิติบุคคลใหม่สูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคาร 6,857 ราย อสังหาริมทรัพย์ 5,569 ราย และขายปลีกเครื่องประดับ 3,262 ราย