ธ.ก.ส.สนับสนุน สกต.และ SMAEs ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด

ธ.ก.ส. เร่งระบายสับปะรด ผ่านกระบวนการ สกต. เพื่อกระจายผลผลิตออกไปทั่วประเทศ และส่งจำหน่ายตรงถึงผู้บริโภคผ่านตลาดประชารัฐ พร้อมหนุน SMAEs นำผลผลิตไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม คาดช่วยระบายสับปะรดออกจากแหล่งผลิตในช่วงต้นไม่ต่ำกว่า 1,500 ตัน ลดปัญหาราคาตกต่ำ

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีปริมาณผลผลิตสับปะรดที่ออกสู่ตลาดทั้งปีประมาณ 1.9 ล้านตัน ซึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2561 คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตพร้อมเก็บเกี่ยวและทยอยออกสู่ตลาดกว่าร้อยละ 25 โดยมีผลผลิตส่วนเกินที่ต้องเร่งบริหารจัดการประมาณ 58,000 ตัน ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ขอความร่วมมือจากส่วนงานต่างๆ ในลักษณะประชารัฐเพื่อเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ โดยในส่วนของ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนให้สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ซึ่งเป็นองค์กรของเกษตรกร และมีเครือข่ายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เข้าไปช่วยเร่งระบายผลผลิตออกนอกพื้นที่และบริหารจัดการด้านการตลาด โดยรวบรวม ดูแลคัดคุณภาพ กำหนดราคาขั้นต้น ตั้งแต่ต้นทาง ขนส่งสู่ สกต.ปลายทาง และจัดจำหน่ายตรงถึงผู้บริโภคผ่านช่องทางตลาดประชารัฐ ที่เป็นเครือข่ายทั้งส่วนงานราชการและเอกชนในพื้นที่ โดยนำร่องปล่อยคาราวานขนส่งสับปะรดสด จากพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์สู่กรุงเทพมหานคร ในวันอังคารที่ 15 พฤษภาคม 2561 นี้ พร้อมกระจายไปยังจุดจำหน่าย เช่น บริเวณหน้า ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ บางเขน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง ในวันที่ 16-18 พฤษภาคม 2561 รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เป็นต้น จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมซื้อผลผลิตสับปะรดคุณภาพดีจากสวนเกษตรกร และผลิตภัณฑ์แปรรูปสับปะรดในช่วงวันดังกล่าว

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านการเกษตร หรือ SMAEs ที่ใช้สับปะรดเป็นวัตถุดิบ เช่น ผู้ประกอบการแปรรูปผลไม้อบแห้ง น้ำสับปะรด สับปะรดกวน ขนมปังไส้สับปะรด เป็นต้น รับซื้อผลผลิตเพื่อนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการเก็บสต็อคเป็นวัตถุดิบให้มากขึ้น ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้คาดว่าจะช่วยระบายสับปะรดสดออกจากแหล่งผลิต ไปสู่ผู้บริโภคตามจุดจำหน่ายต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 1,500 ตัน และดูดซับปริมาณผลผลิตจากตลาดไปสู่กระบวนการแปรรูปของผู้ประกอบการเกษตรได้อีกประมาณร้อยละ5-10 ซึ่งจะช่วยลดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำได้ในระดับหนึ่ง


“ผลผลิตที่ออกมาพร้อมๆ กัน ส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตสับปะรดได้ประมาณกิโลกรัมละ 2.80-3 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 4.68 บาท ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายสับปะรดได้ในราคาที่คุ้มค่าการลงทุน ธ.ก.ส. จึงได้ร่วมกับเครือข่ายประชารัฐในการระบายผลผลิต รวมทั้งสนับสนุนกระบวนการสหกรณ์ให้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนกลไกตลาดให้ทำงานอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังร่วมหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว เช่น การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกสับปะรดไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า การนำผลผลิตมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น” นายอภิรมย์กล่าว