ค่าเงินบาททรงตัว ขณะนักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (2/8) ที่ระดับ 33.28/30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าหลังจาก ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจัดงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 178,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดเป็นอันดับ 2 ของปีนี้ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่ง หลังจากปรับตัวขึ้นไปที่ 191,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงานลดลง นอกจากนี้ นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก ได้แสดงความเห็นในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่สมาคมเศรษฐกิจแห่งลาสเวกัสว่า เฟดควรปรับลดงบดุลซึ่งปัจจุบันมีมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐได้ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเงินอย่างเต็มที่แล้ว นายวิลเลียมส์ยังได้กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการปรับลดงบดุลของเฟดอาจจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี จึงจะทำให้งบดุลกลับสู่ระดับที่เป็นปกติและสมเหตุสมผล นอกจากนี้ นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ กล่าวว่าเฟดไม่ควรจะมีปฏิกิริยามากเกินไปต่อตัวเลขเงินเฟ้อที่อ่อนแอ ซึ่งนางลอเรตต้าเน้นย้ำว่าเฟดควรที่จะใช้เวลาพิจารณาข้อมูลเศรษฐกิจเพื่อสร้างความกระจ่างในประเด็นเงินเฟ้อ ว่าความอ่อนแอของตัวเลขเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงแค่ชั่วคราวหรือไม่ นางเมสเตอร์ยังกล่าวอีกว่า การที่เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในแต่ละปี ได้ช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถชะลอกระบวนการคุมเข้มททางการเงินได้ตามความจำเป็น

ในส่วนของภาวะตลาดภายในประเทศนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังยังคงมองเศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 ซึ่งปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยคาดทุนระยะสั้นไหลเข้ามีแนวโน้มที่จะกดค่าเงินบาทให้แข็งค่าหลุด 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร. กรุงเทพฯ) ได้เปิดเผยผลการสำรวจแนวโน้มเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2560 บริษัทสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่นต่างระบุว่า ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 26 ถือว่าสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.28-33.305 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (3/8) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1848/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (2/8) ที่ระดับ 1.1850/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากสำนักงานยูโรสแตทเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิตในยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเศรษฐกิจยูโรโซนเริ่มส่งสัญญาณขยายตัวเร็วขึ้น จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP ของประเทศในกลุ่มยูโรโซนที่ 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจมีการปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติหลังจากยูโรโซนฟื้นตัวในไตรมาสที่สอง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1831-1.1859 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1849/1.1851 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (3/8) เปิดเผยที่ระดับ 110.61/63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (2/8) ที่ระดับ 110.75/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังคงได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังจากที่เฟดส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและระบุว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงเคลื่อนที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้นักลงทุนหันมาซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 110.57-110.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 110.60/110.62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนกรกฎาคม จากมาร์กิต, ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมิถุนายน, ดัชนีภาคการผลิตเดือนกรกฎาคมจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนกรกฎาคม


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.4/-0.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.7/-0.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ