แบงก์ดี๊ด๊า ธปท.หนุนลงทุนนอก เปิดช่องยื่นขออนุญาตถือหุ้นเกิน “รายกรณี”

นายแบงก์ขานรับ ธปท.ผ่อนเกณฑ์ถือหุ้นในบริษัทต่างประเทศเกินกำหนดได้ เปิดช่องขออนุญาตเป็น “เคสบายเคส” ร่วมลงทุนใน “เอสเอ็ม-ฟินเทค-วีซี” ด้าน ธปท.หวังเพิ่มความคล่องตัว-ยืดหยุ่นให้แบงก์ลุยธุรกิจต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 8 พ.ค. 2561 ได้เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 7/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการลงทุนของสถาบันการเงิน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่

วันที่ 9 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป โดยเป็นการปรับปรุงเกณฑ์ของ ธปท.ในการอนุญาตให้สถาบันการเงินสามารถถือหรือมีหุ้นในสถาบันการเงินที่อยู่ในต่างประเทศเกินกว่าอัตราส่วนที่กำหนดสำหรับการถือหรือมีหุ้นในบริษัทแต่ละรายได้ ซึ่งสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอผ่อนผันมายัง ธปท.ได้เป็นรายกรณี โดย ธปท. จะพิจารณาภายใน 45 วัน

ทั้งนี้ เกณฑ์ที่จะพิจารณา อาทิ การห้ามถือหรือมีหุ้นในบริษัทต่างประเทศเกิน 5% ของเงินกองทุน ในแต่ละรายบริษัท หรือห้ามถือหรือมีหุ้นทางตรงหรือทางอ้อมในบริษัทต่างประเทศเกิน 10% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น โดย ธปท.จะดูข้อจำกัดทางกฎหมายในประเทศที่สถาบันการเงินจะไปลงทุนซึ่งห้ามไม่ให้นักลงทุนจนมีอำนาจควบคุมกิจการในสถาบันการเงินท้องถิ่น หรือข้อจำกัดในการต่อรองทางธุรกิจเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม การถือหรือมีหุ้นดังกล่าว ต้องไม่เกินกว่าอัตราส่วนที่กำหนดสำหรับการถือหรือมีหุ้นในทุกบริษัทรวมกัน หรือไม่เกิน 20% ของเงินกองทุนของสถาบันการเงินนั้น และอัตราส่วนที่กำหนดสำหรับการถือหรือมีหุ้น หน่วยลงทุน และใบทรัสต์ของสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สถาบันการเงินหลายแห่งมีแผนในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดย ธปท.ได้ปรับปรุงเกณฑ์มาเป็นระยะ เช่น เกณฑ์การถือหรือมีใบทรัสต์เพื่อประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน (private equity trust) ที่ร่วมลงทุนใน (1) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (2) ธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน และ (3) ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital) ที่ไม่ใช่บริษัทลูกภายในกลุ่มธุรกิจการเงิน หรือธุรกิจการร่วมลงทุน (private equity) ในรูปแบบอื่น อย่างไรก็ดีการขยายธุรกิจอาจมีข้อจำกัดด้านกฎหมายในบางประเทศ ทาง ธปท. จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้คล่องตัวขึ้น

นางฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ประกาศดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ สามารถทำธุรกิจได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น โดยขยับกรอบการลงทุนในต่างประเทศให้ทำได้มากขึ้น

“จะทำให้ธนาคารสามารถสนับสนุนธุรกิจได้มากขึ้น อย่างธุรกิจฟินเทคในบางประเทศเขาจะมีข้อกำหนดว่าต้องลงทุนในบริษัทเขาได้ในสัดส่วนเท่าใด เราเลยต้องปรับกฎเกณฑ์ให้ไม่ขัดกับต่างประเทศ และสนับสนุนกันได้มากขึ้น ถือเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ” นางฤชุกรกล่าว

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการลงทุนของสถาบันการเงิน อย่างไรก็ดี ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ คงต้องขอพิจารณาประกาศดังกล่าวให้ชัดเจนก่อน แต่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์

“ผมคงต้องขอศึกษาประกาศนี้ดูก่อน แต่ดูแล้วก็น่าจะเป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่ดี” นายชาติศิริกล่าว

นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ประกาศดังกล่าว น่าจะส่งผลดีกับธุรกิจแบงก์ที่จะสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ตามภาวะโลกธุรกิจในปัจจุบันที่เปิดกว้างขึ้น โดยในส่วนของแบงก์กรุงเทพเอง ก็มีการลงทุนในหลายบริษัทในต่างประเทศ

นายผยง ศรีวนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารกรุงไทย ยังไม่ได้เน้นการลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอี หรือสตาร์ตอัพในต่างประเทศ แต่จะให้ความสำคัญกับการไปเข้าเรียนรู้ร่วมกัน โดยเข้าไปร่วมในลักษณะ cocreation center (ศูนย์ความร่วมมือการสร้างสรรค์) ในแต่ละประเทศ เหมือนอย่างซิลิคอนวัลเลย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ต้องเข้าไปถือหุ้น แต่เป็นการเข้าไปเรียนรู้ด้วยกัน


นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส chief marketing officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องที่ดีที่มีประกาศดังกล่าวออกมา แต่ทางแบงก์คงต้องศึกษารายละเอียดของเกณฑ์ที่ออกมาให้ชัดเจนก่อน