
“พิชัย” ผุดไอเดียตั้งกองทุนอินฟราสตรักเจอร์ บริหารค่าโดยสาร “รถไฟฟ้า-รถเมล์” 20 บาทตลอดสาย ดึงทรัพย์สินโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปแล้วเป็นแบ็กอัพ พร้อมเล็งเก็บค่าธรรมเนียมขับรถยนต์เข้ากรุงเทพฯ หนุนเป็นรายได้กองทุน
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าขณะนี้ตนมีแนวคิดการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์) ขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการค่าโดยสารรถไฟฟ้า ที่รัฐบาลมีนโยบายที่อยากเห็นการคิดค่าโดยสารราคาถูก 20-25 บาทตลอดสาย รวมถึงเชื่อมต่อกับรถโดยสารประจำทาง หรือรถเมล์ด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนไปแล้วให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด และใช้งบประมาณน้อยที่สุด
“เรามีนโยบายอยากให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20-25 บาทตลอดสาย แล้วก็นั่งเชื่อมกับรถเมล์ได้ ซึ่งถ้าจะทำให้ได้อย่างนี้ก็ต้องปรับโครงสร้างระบบที่เราได้ลงทุนไปแล้ว นึกง่าย ๆ ก็คือ กองทุนอินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์ เราก็ไปดูว่าทั้งหมดนี้เราได้ลงทุนไปโดยภาคเอกชนเท่าไหร่ เราก็เอาสมบัติเหล่านั้นมาใส่ในอินฟราสตรักเจอร์ ฟันด์เสีย ซึ่งผมคิดว่าไม่มาก ส่วนที่มากจะอยู่กับรัฐวิสาหกิจ อยู่กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถ้าดึงมาตรงนี้ เราก็ตั้งกองทุน แล้วก็เก็บค่าโดยสารแค่ 20 บาท” นายพิชัยกล่าว
โดยเงินที่จะเข้าเป็นรายได้ของกองทุนดังกล่าว อาจจะต้องเก็บจากผู้ที่ต้องการนำรถยนต์วิ่งเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วย เช่น อาจจะเก็บค่าธรรมเนียมคันละ 10-15 บาท เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนหันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น และน่าจะทำให้กองทุนมีเงินเพียงพอสำหรับนำไปบริหารจัดการค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้สามารถคิดค่าโดยสารได้ในอัตรา 20-25 บาทได้

“เราก็ตั้งกองทุนแล้วก็เก็บค่าโดยสารแค่ 20 บาท ซึ่งอาจจะบอกว่าไม่พอ ก็ต้องเก็บคนที่อยากเอารถยนต์เข้ามาในกรุงเทพฯ ด้วย จ่ายคันละ 10-15 บาทได้ไหม ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมคิด และจะเสนอเป็นนโยบายรัฐบาลต่อไป” นายพิชัยกล่าว
ทั้งนี้ นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นนโยบายชูโรงของพรรคเพื่อไทย โดยที่ผ่านมามีการนำร่องไป 2 สายแล้วคือ รถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีม่วง
โดยก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ระบุว่า การดำเนินการนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น มั่นใจว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี หรือประมาณเดือน ก.ย. 2568 รถไฟฟ้าทุกสีและทุกสายจะเข้าร่วมนโยบายได้ทั้งหมด โดยนโยบายดังกล่าวนอกจากเป็นการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนแล้ว ยังสามารถลดปัญหา PM 2.5 ได้อีกด้วย รวมถึงยังแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดให้บรรเทาลง
นอกจากนี้ นายสุริยะยังระบุด้วยว่า ได้เตรียมแผนจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชยผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจากมาตรการดังกล่าว โดยเม็ดเงินจากกองทุนที่จะนำมาชดเชยนั้น จะมาจากขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เป็นต้น