เปิดสถิติบ่งชี้ เงินจ่อไหลเข้าหุ้นไทย หากเฟดลดดอกเบี้ยเร็วกว่าไทย

ตลาดหุ้นไทย
Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP

บล.เอเซีย พลัส เปิดสถิติบ่งชี้เงินต่างชาติจ่อไหลเข้าหุ้นไทย หากเฟดลดดอกเบี้ย-เร่งใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเร็วกว่าไทย

วันที่ 13 กรกฎาคม 2567 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า ในปี 2566 จนถึงกลางปี 2567 หลาย ๆ ประเทศเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าไทย ส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐสูงกว่าไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่างกับในอดีตที่ไทยสูงกว่าสหรัฐ

กดดันให้เม็ดเงินจากหลายส่วนไหลออกจากไทย ทั้งจากบัญชีค่าเงินต่างประเทศ FCD (Foreign Currency Deposit) ไหลออกเร่งเพิ่มขึ้นมาเกือบ 1 เท่า ในช่วง 1 ปีครึ่ง จนเดือน พ.ค. 2567 มียอดรวมอยู่ที่ 8.06 แสนล้านบาท รวมถึงเม็ดเงินมีการเคลื่อนไปสู่กองทุนต่างประเทศ หรือ FIF เพิ่มขึ้นราว 1 แสนล้านบาท หลังจากกองทุน LTF หมดสิทธิในการลดหย่อนภาษี

ประเด็นดังกล่าวยังกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าราว 13% และยังส่งผลให้พอร์ตหุ้นของต่างชาติที่ถือหุ้นไทยอยู่ มีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น พร้อมกับขาดทุนในหุ้นไทยจากดัชนี SET ติดลบ 22% ทำให้เห็นต่างชาติเร่งขายหุ้นไทยออกมาเยอะถึง 3 แสนล้านบาท และขายตราสารหนี้ออกมา 2 แสนล้านบาท ในช่วงเวลาดังกล่าว

สรุปคือ ความต่างของอัตราผลตอบแทนสหรัฐกับไทยที่กว้างขึ้น เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญกดดันให้ฟันด์โฟลว์เร่งไหลออกจากตลาดหุ้นไทย ถึง 3 แสนล้านบาท ในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา

เฟดลดดอกเบี้ย เงินไหลเข้าหุ้นไทย

การศึกษาข้อมูลในอดีตเวลาส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทยกับสหรัฐแคบลง ฟันด์โฟลว์มักจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยและมีโอกาสดัชนี SET ปรับตัวขึ้น ในทางกลับกับหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไทยถูกสหรัฐทิ้งห่างฟันด์โฟลว์ก็มักจะไหลออก โดยทุก ๆ ส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปีแคบลง 5 – 10 bps หนุนให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าได้ราว 1 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี กว้างขึ้น 5 – 10 bps กดดันฟันด์โฟลว์ไหลออก 1 หมื่นล้านบาท

ADVERTISMENT

อีกทั้งส่วนต่างบอนด์ยีลด์สหรัฐ-ไทย ยังแปรผันตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่า โดยมีค่า Correlation สูงถึง 85% คือถ้าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าไทย ค่าเงินบาทก็มีโอกาสอ่อนค่า แต่ถ้าเฟดเร่งลดดอกเบี้ยเร็วกว่าไทย ค่าเงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการทำการศึกษาเพิ่มเติม เวลาที่เฟดเร่งใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย หรือใช้ QE ช่วงนั้นเม็ดเงินมีการเอนเอียงไหลมาเข้าหุ้นเทคฯ และหุ้นประเทศกำลังพัฒนา มากกว่าหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว MSCI Emerging +134% มากกว่า MSCI World +116% และช่วง QE โควิดที่ MSCI Emerging +89% มากกว่า MSCI World +75% พบว่า สหรัฐทิ้งห่างฟันด์โฟลว์ก็มักจะไหลออก โดยทุก ๆ ส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปีแคบลง

ADVERTISMENT

และล่าสุดคาดการณ์ P/E ปี 2567 MSCI World (ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว) ที่ 20.4 เท่า เร่งตัวสูงขึ้นกว่า MSCI Emerging (ตลาดหุ้นกำลังพัฒนา) ที่ 13.4 เท่า โดยเฉพาะตลาดหุ้น NASDAQ มี P/E ที่ 44.2 เท่า (คาดการณ์ P/E ปี 2567 ที่ 35.6 เท่า) น่าจะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นกำลังพัฒนามากขึ้น อีกทั้งยังมีโอกาสได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม

“สรุปถ้าเฟดส่งสัญญาณและเร่งลดดอกเบี้ย มีโอกาสเห็นเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชีย และตลาดหุ้นกำลังพัฒนามากขึ้น รวมถึงตลาดหุ้นไทยเช่นกัน ส่วนต่างบอนด์ยีลด์น่าจะแคบลงเร็ว ภายใต้ กนง. ที่ส่งสัญญาณไม่ลดดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้”

เศรษฐกิจไทยเห็นแนวโน้มดีขึ้น

ศักยภาพเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำลงไปเรื่อย ๆ เฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศ กดดันอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย (GDP GROWTH) เติบโตได้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียน

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตโควิด-19 เบาลง (ช่วงไตรมาส 3/2564 – ไตรมาส 1/2567) เติบโตเฉลี่ยได้เพียง +0.5% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) และ +1.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ขณะที่ช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา GDP Growth เมื่อเทียบรายไตรมาส QOQ ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ 5 ไตรมาสติดต่อกัน (ไตรมาส 4/2565-4/2566)

สอดคล้องกับ GDP Growth เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน YOY ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ 3 ไตรมาสติดต่อกัน (ไตรมาส 2/2565 – 4/2566) หลังได้รับผลกระทบเชิงลบจากการใช้จ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า รวมถึงการส่งออกที่ชะลอตัว กดดันเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/2567 ขยายตัวได้แค่ +1.5% YOY

อย่างไรก็ตามระยะถัดไปคาดหวังเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบขั้นบันได โดย BLOOMBERG คาดการณ์ GDP GROWTH ในไตรมาส 2/2567 +2.1% YOY, ไตรมาส 3/2567 +2.8% YOY, ไตรมาส 4/2567 +3.8% YOY โดยตลอดปี 2567 BLOOMBERG คาดการณ์ GDP GROWTH อยู่ที่ +2.6% YOY

ซึ่งสาเหตุหลักมาจากบทบาทของนโยบายการคลัง ที่ทยอยเดินหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อน GDP GROWTH ไทย ซึ่งเชื่อว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2/2567 – 4/2567 ขณะที่เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยของภาครัฐฯ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนเอกชน และการบริโภคภาคครัวเรือนเป็นหลัก

เริ่มจึ้ง ครึ่งหลัง

ความคาดหวังเฟดลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในเดือน ธ.ค. มีน้ำหนักมากขึ้น โดยผลการสำราจของ FED WATCH TOOL ล่าสุด คาดความน่าจะเป็น 49% (ช่วงต้นเดือน ก.ค. 2567 อยู่ที่ 40%) หลังจากวันที่ 9 ก.ค. 2567 ประธานเฟดแถลงนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐรอบครึ่งปีต่อสภาบน

โดยมองว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ความเสี่ยงประการเดียวที่เฟดพิจารณา แต่การตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงและนานเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในโทนที่มีความ DOVISH มากขึ้น หนุนให้ในระยะถัดไปเห็นโอกาสที่ฟันด์โฟลว์จะไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีหลังดังนี้

ระยะสั้น เริ่มต้นช่วงครึ่งปีหลัง (1 – 10 ก.ค. 2567) พอมีกฏ Uptick Rule เห็นปริมาณปริมาณการ Short Sell เหลือเฉลี่ย 1,462 ล้านบาทต่อวัน (คิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าซื้อขาย 4.2%) ลดลงจากเดือนก่อนที่ 6,174 ล้านบาทต่อวัน (คิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าซื้อขาย 12.9%) ต่อมาคือ แรงซื้อผ่าน NVDR ที่พุ่งขึ้นมาเป็น 6 พันล้านบาท พลิกจากเดือนก่อนที่ขายสุทธิหนัก 1.5 หมื่นล้านบาท สุดท้ายต่างชาติซื้อสุทธิ SET50 FUTURES 70,578 สัญญา แตกต่างจากเดือนก่อนที่ขายสุทธิ 72,813 สัญญา

รวมถึงค่าเงินเอเชียหรือค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น จากส่วนต่างผลตอบแทนดอกเบี้ยไทยสหรัฐที่แคบลง และเริ่มเห็นสัญญาณค่าเงินบาทเร่งตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ โดย 2 สัปดาห์ ค่าเงินบาทแข็งลงมาเกือบ 1 บาท จาก 37 บาท/เหรียญ เหลือ 36 บาท/เหรียญ

ระยะยาว ในไตรมาส 3 หลาย ๆ ประเทศมีโอกาสลดดอกเบี้ยต่อ โดยเฟด FED WATCH TOOL คาดปีนี้เฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง เหลือ 5% ปีหน้าลด 3 ครั้ง เหลือ 4.25% ลดช่วงต่างของดอกเบี้ยไทยและบอนด์ยีลด์ที่ยังทรง ๆ ให้เกิดส่วนต่างที่มันแคบลง หนุนให้ค่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าในระยะกลางถึงยาว หนุนฟันด์โฟลว์มีโอกาสไหลกลับมา เพราะต่างชาติมีโอกาสได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม และคาดว่าเป็นไปตามกลไกสถิติในอดีตในหัวข้อก่อนหน้า

รวมถึงมูลค่าหุ้น (Valuation) ตลาดหุ้น Emerging Market ยังน่าสนใจ โดย MSCI EMERGING (ตลาดหุ้นกำลังพัฒนา) มีคาดการณ์ P/E ปี 2567 ที่ 13.4 เท่า ต่ำกว่า MSCI WORLD (ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว) มี P/E ที่ 20.4 เท่า โดยเฉพาะตลาดหุ้น NASDAQ มี P/E ที่ 44.2 เท่า (คาดการณ์ P/E ปี 2567 ที่ 35.6 เท่า) น่าจะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักในตลาดหุ้นกำลังพัฒนามากขึ้น อีกทั้งยังมีโอกาสได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม

“สรุปเริ่มเห็นโมเมนตัมฟันด์โฟลว์ชะลอการขายและไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยบ้างในช่วงนี้ และคาดหวังความต่างของดอกเบี้ยที่ลดลงแตกต่างจากในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา น่าจะเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะหนุนให้ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นเอเชีย และหุ้นไทยเพิ่มขึ้น”

Valuation ตลาดหุ้นน่าสะสม

ดัชนี SET ที่ย่อตัวลงมาใกล้จุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี จน Valuation ตลาดหุ้นไทยถูกลงมามาก คาดมี P/E ปี 2567 ที่ระดับ 14.2 เท่า PBV ที่ 1.22 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่ 3.5% กลยุทธ์การลงทุนแบ่งเป็นหุ้นน่าลงทุนทั้งระยะสั้นและยาว พร้อมกับรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

หุ้นน่าลงทุนระยะสั้น (1-3 เดือน) อาทิ TTB, SIRI, TOP, GPSC

  • TTB (ราคาเป้าหมาย 1.98 บาท) หุ้นลำดับต้น ๆ ที่ได้ประโยชน์จากเม็ดเงินที่คาดไหลเข้ามาเพิ่มเติม หลังเตรียมมีกองทุน THAIESG เงื่อนไขใหม่ดันตลาด และหวังมีการฟื้นกองทุนรวมวายุภักษ์แนวโน้มผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2567 มีโอกาสเติบโตทั้ง QOQ และ YOY โดดเด่นกว่ากลุ่ม อีกทั้งยังคาดหวังปันผลได้สูงถึง 6.4% ต่อปี
  • SIRI (ราคาเป้าหมาย 2.20 บาท) หุ้นกลุ่มอสังหาฯ ที่คาดได้ประโยชน์ในยามดอกเบี้ยขาลง โดยแนวโน้มฟรีเซลไตรมาส 2/2567 ยืนสูงไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 45% ของเป้าบริษัททั้งปีคาดหวังปันผลได้สูง 9% ต่อปี
  • TOP (ราคาเป้าหมาย 59 บาท) หุ้นกลุ่มโรงกลั่นที่คาดได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบทรงตัวระดับสูง หลังเตรียมเข้าสู่ฤดูกาลขับขี่ หนุนดีมานด์การใช้น้ำมันมากขึ้น ต่อเนื่องด้วยการเข้าสู่ช่วงลานีญา อุณหภูมิต่ำลง
    ราว 1 – 3 องศา คาดหุ้นให้มีความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
  • GPSC (ราคาเป้าหมาย 55 บาท) หนึ่งในหุ้นกลุ่มโรงฟ้า SPP ที่ได้ปัจจัยบวกจากการปรับขึ้นค่า FT งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2567 คาดอยู่ที่ราว 4.65 – 6.01บาท/หน่วย จาก 4.18 บาท/หน่วย ในรอบก่อนหน้า ซึ่ง GPSC มีสัดส่วนกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมสูงถึง 35% ของรายได้รวม ซึ่งมากกว่าทั้ง BGRIM และ GULF