
มหากาพย์ EA สั่นสะเทือนตลาดทุนไทย-ทุบความเชื่อมั่น หลัง ก.ล.ต. ลงดาบผู้บริหารไซฟอนเงินบริษัท 3.46 พันล้าน พร้อมส่ง ปปง.เชือดฟอกเงิน “เลขาธิการ ก.ล.ต.” ลุยตรวจสอบเพิ่มทุกกรณี ทริสเรทติ้งหั่นเครดิตเรตติ้ง EA เหลือ BB+ เอฟเฟ็กต์แผนกู้เงิน-ออกหุ้นกู้ใหม่ เผยกระทบเชื่อมั่นเจ้าหนี้รุนแรง เสี่ยงรีไฟแนนซ์ยาก แบงก์เจ้าหนี้ตั้งการ์ดเบรกปล่อยกู้ใหม่ จับตาปีนี้มีหนี้เงินกู้-หุ้นกู้ ครบชำระ 1.6 หมื่นล้าน บลจ.ป่วนเร่งแยกทรัพย์สิน EA พร้อมเตรียมกำหนดเพดานการไถ่ถอนหน่วยลงทุน หวั่นนักลงทุนแพนิกแห่ถอน “สมใจนึก เองตระกูล” ประธานบอร์ด-รักษาการซีอีโอ EA สั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่วันที่ 12 ก.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษ นายสมโภชน์ อาหุนัย กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รวมทั้งนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตามความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในคดีไซฟอนเงินบริษัท
เนื่องจากร่วมกระทำการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด เป็นเหตุให้บุคคลทั้ง 3 รายนี้ได้รับผลประโยชน์รวม 3,465.64 ล้านบาท ทำให้ EA และบริษัทย่อยเสียหาย โดย ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ทั้งนี้ การดำเนินการกล่าวโทษของ ก.ล.ต.ในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์มากมายกับ EA โดยเฉพาะปัญหาราคาหุ่นร่วงดิ่งต่อเนื่อง ทำให้บริษัทที่เคยมีมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) ถึง 3.6 แสนล้านบาทในปี 2565 ดิ่งมาอยู่ที่ระดับ 3-4 หมื่นล้านบาท จนทำให้นายสมโภชน์ถูกบังคับขาย (Forced Sell) หุ้น EA ในวันที่ 25-28 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทริสฯหั่นเรตติ้งเป็น Junk Bond
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทริสเรทติ้ง (TRIS Rating)ได้มีการประชุมวาระพิเศษเมื่อวันเย็นวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา และได้รายงานว่า ได้ปรับลดอันดับเครดิตองค์กร EA และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีประกัน มาอยู่ที่ระดับ BB+ จากเดิมที่ระดับ BBB+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือลบ ซึ่งถือว่าเป็น Junk Bond โดยการปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่สูงขึ้นในระยะอันใกล้ รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของบริษัทภายหลัง ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษผู้บริหารร่วมกระทำการทุจริต
และได้ประกาศ “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Negative” หรือลบ ให้กับอันดับเครดิตทั้งหมดของ EA ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ทริสฯจะต้องประเมินทั้งแนวโน้มธุรกิจและสถานะทางการเงินของบริษัทใหม่
“ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตลงได้อีกหากมีปัจจัยเชิงลบต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น การที่บริษัทไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนสำหรับการชำระหนี้ที่เพียงพอ หรือกรณีที่บริษัทไม่สามารถขอยกเว้นการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้จากเจ้าหนี้ได้”
กระทบเชื่อมั่นเจ้าหนี้รุนแรง
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งระบุว่า ประเด็นเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทนั้นน่าจะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นของเจ้าหนี้และนักลงทุนที่มีต่อบริษัท และทำให้ความเสี่ยงในการรีไฟแนนซ์สูงขึ้นสำหรับภาระหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ทริสเรทติ้งยังมองว่าการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงอาจส่งผลให้บริษัทผิดเงื่อนไขสัญญาเงินกู้ที่มีกับธนาคาร ซึ่งกำหนดให้บริษัทต้องรักษาผู้บริหารหลักไว้
ปรับแผนขายหุ้นกู้ลอตใหม่
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่เดิม EA มีแผนจะระดมทุนขายหุ้นกู้ลอตใหม่ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ ทางบริษัท EA จะต้องอัพเดตข้อมูลไฟลิ่งยื่นเข้ามาใหม่ให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งในส่วนของการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการและทีมบริหารชุดใหม่ รวมถึงในส่วนของที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีการปรับเครดิตเรตติ้งใหม่ เพื่อให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนจากข้อมูลชุดล่าสุด
ก.ล.ต.ลุยตรวจสอบทุกกรณี
เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นไปตามข้อมูลหลักฐานที่มี อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของ ก.ล.ต. จะมีการตรวจสอบในทุกกรณีอยู่แล้ว และติดตามใกล้ชิดในเรื่องความกังวลของผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นตัวหุ้น หุ้นกู้ หรือแม้แต่หน่วยลงทุน
นางพรอนงค์กล่าวว่า กรณีที่กล่าวโทษเป็นเรื่องเกิดขึ้นประมาณปี 2556-2558 ดังนั้นต้องเป็นเรื่องของผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป แต่สถานะ EA ปัจจุบันยังมีกระแสเงินสดและดำเนินการธุรกิจตามปกติในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ EA ต้องให้ความเชื่อมั่นว่าในเมื่อเปลี่ยนแปลงผู้บริหารแล้ว ทิศทางกลยุทธ์ต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร ซึ่ง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯมีการติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด
แบงก์เจ้าหนี้เบรกปล่อยกู้ใหม่
แหล่งข่าวแบงก์แห่งหนึ่งกล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับ EA ในมุมแบงก์ก็คงไม่เติมเงินใหม่ ส่วนการที่บริษัทจะมีการออกหุ้นกู้ในเร็ว ๆ นี้ หากขายไม่ได้ หรือขายไม่หมด แบงก์ที่เป็นเจ้าหนี้ก็คงต้องพิจารณาว่าจะเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งก็คงต้องพิจารณาโดยดูจากธุรกิจว่ายังไปต่อได้หรือไม่เป็นสำคัญ
ยอดหนี้รวม 6.9 หมื่นล้าน
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 บริษัท EA มีหนี้สินรวม 69,854 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 30,169 ล้านบาท และหุ้นกู้คงค้าง 31,166 ล้านบาท (16 รุ่น ไถ่ถอนปี 2567-76) ซึ่งหุ้นกู้ทั้งหมดที่บริษัทมีนั้นเป็นหุ้นกู้ไม่มีประกัน และมีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (Cross Default) กับสถาบันการเงิน หรือหุ้นกู้อื่น
ขณะที่เมื่อ 15 กรกฎาคม 2567 นายวุฒิเลิศ เจียรนิลกุลชัย กรรมการ EA ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบฐานะทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากภาระหนี้สินโดยเฉพาะเงินกู้และหุ้นกู้ที่จะครบกําหนดชําระภายในปี 2567 และแนวทางในการชําระหนี้ รวมทั้งผลกระทบต่อการบริหารจัดการกิจการของบริษัท 1.จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2567 บริษัทมีหนี้สินเงินต้นที่จะครบกําหนดชําระภายในปีนี้คงเหลือจํานวน 16,488 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี บริษัทขอเน้นย้ำว่าบริษัทยังมีรายได้จากโรงไฟฟ้าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกระแสเงินสดหลักให้กับบริษัท นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาและพิจารณาคัดเลือก Strategic Partners เข้ามาร่วมลงทุน สร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน เพิ่มศักยภาพในการชําระหนี้
บอร์ด EA ตั้งกรรมการสอบเพิ่ม
ขณะที่นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA พร้อมบอร์ดบริหารชุดใหม่ได้เปิดแถลงข่าวโดยระบุว่า คณะกรรมการบริษัทได้มีการเรียกประชุมนัดพิเศษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 ก.ค. 2567 โดยที่ประชุมได้มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่เพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 13 ราย และที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายในบริษัท เพื่อเข้าไปสืบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตที่เกิดขึ้น เพื่อความโปร่งใสของบริษัท รวมถึงจะมีการขอเอกสารจาก ก.ล.ต. เพื่อนำมาประกอบการตรวจสอบในครั้งนี้ด้วย ซึ่งกำชับให้กระบวนการตรวจสอบทำอย่างเต็มที่และดำเนินการให้เร็วที่สุด
“เข้าใจและเห็นใจกลุ่มเจ้าหนี้ของเรา เมื่อรับรู้ข่าวที่เกิดขึ้นต้องเป็นกังวล แต่เรายืนยันว่าขณะนี้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ และยืนยันว่าปัจจัยพื้นฐานของ EA ยังดี ดังนั้นในเรื่องความเชื่อมั่น ธรรมาภิบาล และแบรนดิ้งของ EA ที่สูญเสียไปนั้น พวกเราต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด ซึ่งเชื่อมั่นว่าเราจะพลิกสถานการณ์กลับมาได้” นายสมใจนึกกล่าว
SCB-EXIM เจ้าหนี้รายใหญ่
นอกจากนี้ นายวสุ กลมเกลี้ยง กรรมการและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน EA กล่าวว่าเจ้าหนี้ของบริษัทมีทั้งธนาคารในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย 1.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด 2.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) 3.ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) 4.ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) 5.องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และ 6.ธนาคารมิซูโฮ (MIZUHO)
“ส่วนการขายหุ้นกู้ลอตใหม่ 2 รุ่น ที่มีแผนจะขายปลายเดือน ก.ค.นี้ เพื่อชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดปีนี้ 5,500 ล้านบาท เบื้องต้นหากขายไม่หมดหรือขายไม่ได้ ขณะนี้ EA ได้รับการยืนยันจากธนาคารเจ้าหนี้ว่าจะเข้ามาช่วยสนับสนุนเงินกู้ส่วนที่ขาด นอกจากนี้ EA ยังมีกระแสเงินสดจากรายรับจากค่าไฟฟ้าเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท”
บลจ.ป่วนเร่งแยกทรัพย์สิน EA
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ได้มีมติถอดหุ้น EA ออกจากรายชื่อในดัชนีหุ้นยั่งยืน (SET ESG Ratings) เนื่องจากบริษัทขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2567 ในฝั่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) หลายบริษัทก็ได้ออกมาชี้แจง
บลจ.ไทยพาณิชย์ระบุว่า ไม่มีการลงทุนในหุ้น EA แต่มีการลงทุนในหุ้นกู้ EA ทั้งหมด 8 กอง อย่างไรก็ตาม บริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่า EA มีความเสี่ยงที่สถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลง สอดคล้องกับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของทริสเรตติ้งที่ “Negative” จึงได้ปรับลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ EA มาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพคล่องของตราสารทำให้การปรับลดอาจต้องใช้ระยะเวลา
และบริษัทจึงพิจารณาแยกส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ EA ออกจากทรัพย์สินอื่นของกองทุนรวม ด้วยการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง Side Pocket ตามเกณฑ์ ก.ล.ต. ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2567 โดยหุ้นกู้ EA จะไม่นำมารวมคำนวณใน NAV ของกองทุน มีผลให้การเปลี่ยนแปลงด้านราคาของหุ้นกู้ EA จะไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนที่เข้าลงทุนในกองทุนภายหลังไม่ต้องรับผลกระทบจากหุ้นกู้ EA
ด้าน บลจ.วรรณ มีกองทุนลงทุนหุ้นกู้รุ่น EA248A คือ 1.กองทุนเปิด วรรณ ดีไลท์ (ONEDELIGHT) สัดส่วน 7.06% ของ NAV และ 2.กองทุนเปิดวรรณตราสารหนี้ปันผล (ONE-DI) สัดส่วน 1.15% ของ NAV ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 15 ส.ค. 2567 โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ บริษัทได้ดำเนินการคัดแยกหุ้นกู้ EA ออกจากทรัพย์สินอื่น ๆ ของกองทุนรวม ตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. เช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2567
คุมเพดานไถ่ถอนเงินกองทุน
สำหรับ บลจ.แอสเซท พลัสระบุว่า มีการลงทุนในตั๋วแลกเงินระยะสั้น EA ของกองทุน ASP-DPLUS-A รวมมูลค่า 1,160 ล้านบาท สัดส่วน 4.70% ของ NAV นอกจากการพิจารณาแยกส่วนการลงทุนที่เป็นตั๋วแลกเงินระยะสั้น EA ออกจากทรัพย์สินอื่น ๆ ของกองทุนรวมแล้ว
นอกจากนี้ กรณีทาง บลจ.เกรงว่าปัญหาของ EA ที่เกิดขึ้นอาจทำให้ผู้ลงทุนมีความกังวลและไถ่ถอนเงินจากกองทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นทาง บลจ.แอสเซท พลัส จึงพิจารณาที่จะใช้เครื่องมือ Redemption Gate หรือ “กําหนดเพดานการขายคืนหน่วยลงทุน” หากพบว่ามีการทำรายการขายคืนหน่วยลงทุนเกินกว่าระดับที่ บลจ.ตั้งไว้ โดยคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนออกที่เหลือ ทางแอสเซท พลัส จะทำการขายคืนในวันถัด ๆ ไปตามสัดส่วน เพื่อเป็นการรักษาสภาพคล่องของกองทุน และลดผลกระทบที่จะส่งผลต่อเนื่องเป็นวงกว้าง
บลจ.อีสท์สปริง มีการลงทุนหุ้นกู้ EA อยู่ทั้งหมด 7 กอง และ บลจ.กสิกรไทยระบุไม่มีการลงทุนในตราสารหนี้ของ EA แต่มีกองทุนตราสารทุนที่ลงทุนในหุ้น EA แต่จำกัดเฉพาะกลุ่มกองทุนดัชนี (Passive Fund) ซึ่งหุ้น EA จะมีสัดส่วนในดัชนีไม่เกิน 0.5% ยกเว้น K-ENERGY ที่มีสัดส่วนในดัชนีประมาณ 1.5% ด้าน บลจ.บัวหลวง ยืนยันไม่มีการลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้ของบริษัท EA
ปิดกองทุน นักลงทุนแห่ถอนเงิน
ล่าสุดพบว่า นายคมสันต์ ผลานุสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซทิพลัส จำกัด (Asset Plus) เปิดเผยว่า มีผู้ถือหน่วยลงทุนที่ทำการไถ่ถอนเงินออกจากกองทุนเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งทำให้ในระหว่างวันที่ 15 – 16 กรกฎาคม 2567 มียอดรวมการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิเป็นจำนวนเกินกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
ทั้งนี้บริษัทได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันเผชิญกับสภาวะขาดความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในการขายตราสารหนี้โดยรวมของกองทุน รวมถึงทำให้ต้นทุนของการจัดหาสภาพคล่องเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้กองทุน ASP-DPLUS เผชิญกับปัญหาในการหาสภาพคล่องในราคาที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหน่วยลงทุน
ด้วยเหตุนี้บริษัทรับพิจารณาและมีความเชื่อโดยสุจริตอย่างสมเหตุสมผลว่าการเลิกกองทุนรวมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม
ดังนั้นบริษัทจึงขอยกเลิกรายการขายหรือไม่รับซื้อคือหน่วยลงทุนตามคำสั่งที่รับไว้และหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนในวันที่ 16 ก.ค. 2567 เพื่อดำเนินการเลิกกองทุนต่อไป
สำหรับคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนที่ได้รับไว้แล้วในวันที่ 15 ก.ค. 2567 ทางบริษัทขอยกเลิกการใช้เครื่องมือ Redemption Gate โดยยอดขายคืนหน่วยลงทุนส่วนที่เหลือจาก Redemption Gate จะถูกรวมไปกับการดำเนินการเลือกกองทุนต่อไป
การดำเนินงานในครั้งนี้เป็นการพิจารณาอย่างรอบคอบและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นอันดับแรก ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าการยุติการดำเนินงานของกองทุน ASP-DPLUS ในครั้งนี้ จะเป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องเผชิญกับความเสี่ยงและต้นทุนการหาสภาพคล่องที่สูงขึ้น
ถ้ามีผู้ช่วยหน่วยลงทุนโปรดศึกษารายละเอียดการชำระขายคืนหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเลือกกองทุนครั้งนี้ได้จากเอกสาร หากประสงค์จะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อหน่วยลงทุน หรือติดต่อ Asset Plus Customer Care 02-672-1111 ในวันและเวลาทำการได้ตั้งแต่ 08.30-17.30 น.