
รัฐบาลชูโครงการ “lgnite Finance” ประกาศมุ่งสู่ศูนย์กลางการเงินโลก พร้อมออกกฎหมายธุรกิจการเงินใหม่ เตรียมจัดตั้ง “NaCGA” เป็นหน่วยงานค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ ช่วยรายย่อย-เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น จ่อชง ครม. ไฟเขียวไม่เกินปี’68
วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในงานเปิดตัวโครงการ “Ignite Finance” ว่า แผนยุทธศาสตร์เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยจากการพึ่งพาการผลิตไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมบริการที่มีมูลค่าสูง โดยการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสำคัญด้านการเงิน การลงทุน และการธนาคาร ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกของประเทศไทยและการพัฒนากฎหมายการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
โดยโครงการนี้จะดึงดูดเงินทุนต่างชาติและผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงมายังประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก ภายใต้โครงการ Ignite Finance รัฐบาลไม่เพียงมุ่งหวังที่จะพัฒนาภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังมุ่งหวังที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยทุกคน
สำหรับโครงการ “Ignite Finance” ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับโลก ด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นร่วมกันของภาครัฐและผู้นำในอุตสาหกรรมการเงิน โครงการนี้มีความมุ่งหวังที่จะสร้างระบบนิเวศที่ผู้ประกอบการระดับโลกและวิสาหกิจเริ่มต้นและคนที่มีแนวคิด มารวมตัวกันเพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยีภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต โดยยังคำนึงถึงเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ เพื่อเปิดทางนำไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินโลก
“เมื่อประเทศไทยเริ่มต้นก้าวสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก ประเทศพร้อมที่จะจุดประกายอนาคตแห่งความรุ่งเรือง นวัตกรรม และการเป็นผู้นำด้านการเงิน ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราจะสร้างศูนย์กลางการเงินทัดเทียมกับที่อื่น ๆ ในโลก” นายเศรษฐา กล่าว
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ภายใต้ “Ignite Finance” ว่า การวางแผนและเป้าหมายที่มุ่งเน้นการปฏิรูปการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจทางการเงิน สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ และการเสริมสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเงินโลกหรือ Thailand Financial Center ที่จะเน้นการประกอบธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจประกันภัย ผ่าน 3 กุญแจสำคัญ
1.กฎหมายที่พร้อมรับอนาคต: โดยได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการยกร่างกฎหมายที่มีความยืดหยุ่น โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ภายใต้โครงการ Ignite Thailand ภาครัฐจะผลักดันร่างกฎหมายที่จะสร้างกรอบการกำกับดูแลแบบเบ็ดเสร็จ
เพื่อให้กระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่การขอใบอนุญาตจนถึงการกำกับดูแลมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อขยายขอบเขตและบทบาทของภาคการเงินของประเทศไทยในเวทีโลก
2.สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่: Ignite Finance จะสร้างให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกแรกที่สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงินเลือกที่จะมาตั้งสาขาและประกอบธุรกิจ ด้วยสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งบริษัทและการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การให้วีซ่าทำงานแก่บุคลากร และวีซ่าที่เกี่ยวข้องของครอบครัว การจัดเก็บภาษีที่เทียบเท่ากับศูนย์กลางการเงินอื่น โครงการเพิ่มแรงจูงใจอื่น ๆ เช่น เงินสนับสนุน (Grant)
3.ระบบนิเวศแห่งอนาคต: Ignite Finance จะพัฒนากรอบกฎหมายที่เข้มแข็งและโปร่งใสที่จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทำธุรกิจทางการเงิน เหมือนที่ประเทศไทยได้ออกกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนธุรกิจและคุณภาพชีวิตของบุคลากร
ขณะเดียวกันคาดว่าไม่เกิน 1 ปี ธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) จะเกิดขึ้นในไทย ซึ่งหลักการ คือ จะเป็นธนาคารที่ใช้ข้อมูลทางเลือกในการคิดความเสี่ยงของคน นอกเหนือจากข้อมูลเงินเดือน ข้อมูลเครดิต ข้อมูลหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยข้อมูลทางเลือก คือ
ข้อมูลการชำระค่าโทรศัพท์ ข้อมูลพฤติกรรมการใช้จ่าย ข้อมูลการชำระค่าน้ำค่าไฟ ข้อมูลการชำระค่าอินเทอร์เน็ต ข้อมูลการขายสินค้า เป็นต้น ต่าง ๆ เหล่านี้เอามาคำนวณเป็นความเสี่ยง ว่าความสามารถในการชำระหนี้เป็นอย่างไร แทนที่สลิปเงินเดือน หลักทรัพย์ค้ำประกัน ข้อมูลเครดิต ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มี และเมื่อคำนวณความเสี่ยงมาแล้ว จะทำให้คนตรงกลางที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจะสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ เป็นการเติมเต็มช่องว่างทางการเงินของประเทศไทย
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (National Credit Guarantee Agency : NaCGA) ซึ่งกลไกคือจะเป็นหน่วยงานการันตีเครดิตสำหรับรายย่อย ประชาชนทุกคน และเอสเอ็มอีว่ามีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะช่วยทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
“NaCGA เป็นกระบวนการค้ำประกันสินเชื่อหนึ่ง เป็นบริษัทประกันความเสี่ยงทางการเงินให้ประชาชน ซึ่งจะมีการคิดค่าธรรมเนียมจากหลายส่วน ทั้งจากประชาชนซึ่งจะคิดต่ำมาก รวมถึงจะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งต้องมาดูในรายละเอียดถึงความเหมาะสม ส่วนหลักการทำงาน คือ NaCGA จะทำหน้าที่เป็นเครดิตการันตีเอเยนซี่ จะอยู่หน้าแบงก์ และการันตีเครดิตตามความเสี่ยงของบุคคลก่อนที่จะขอสินเชื่อ ขณะที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) นั้น หลักการ คือ อยู่หลังแบงก์ คนเดินไปหาแบงก์ก่อนแล้วค่อยมา บสย. ดังนั้นคนประเมินความเสี่ยงจึงไม่ใช่ บสย. แต่ใน NaCGA นี้ จะใหญ่กว่า บสย. ซึ่ง บสย.ก็จะต้องพัฒนาตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรนี้ด้วยเช่นกัน โดยตอนนี้กระทรวงการคลังได้เตรียมเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็ว ๆ นี้ ยืนยันว่าทั้งหมดน่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปี 2568” นายเผ่าภูมิ กล่าว