
สถานการณ์ของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ในตอนนี้ เหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย หลังจากอดีตผู้บริหารและพวกรวม 3 ราย ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษ เป็นคดีทุจริต แม้ว่าทางบริษัทจะตั้งผู้บริหารชุดใหม่ขึ้นมา เพื่อเรียกความเชื่อมั่น แต่จากเหตุการณ์ล่าสุด ที่บริษัทถูกดาวน์เกรดอันดับเครดิตเรตติ้งลง ก็ดูเหมือนบริษัทแห่งนี้ จะเผชิญความยากลำบากมากขึ้น
กองทุน 2.4 หมื่นล้านต้องปิดตัว
โดยผลกระทบเรื่องความเชื่อมั่น นอกจากหุ้นที่ตก “ติดฟลอร์” ทันทีหลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดให้หุ้น EA กลับมาซื้อขายปกติ ก็มียังกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด (Asset Plus) ถึงกับต้องประกาศปิดกองทุน ASP-DPLUS
เนื่องจากเผชิญกับปัญหาในการหาสภาพคล่อง จากที่มียอดรวมการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิเป็นจำนวนเกินกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือมูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นักลงทุน “แพนิก” จากการที่ผู้บริหาร EA ถูกกล่าวโทษดังกล่าว
กระทั่งต่อมา บริษัทจัดการลงทุน (AIMC) หรือสมาคม บลจ.ต้องมีมติจัดให้ EA อยู่ใน Restricted List ห้ามไม่ให้ลงทุนเพิ่ม จนกว่าจะมีความชัดเจนในแนวทางดำเนินงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ปิดกองทุนขึ้นอีก
ชี้บริษัทต้องสร้างความเชื่อมั่น
“พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ทาง EA จะต้องอัพเดตข้อมูลไฟลิ่งหุ้นกู้ ที่เดิมยื่นไว้แล้วเพื่อเตรียมออกขายในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ แล้วจึงยื่นเข้ามาใหม่ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามว่า ทาง EA จะเลื่อนขายหุ้นกู้ลอตดังกล่าวหรือไม่
“แม้ว่า EA จะระบุว่า มีกระแสเงินสดเพียงพอในการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี EA มีตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้หลายรุ่น ดังนั้น ก.ล.ต.จะติดตามสถานะของความสามารถในการชำระคืนหนี้ และความเสี่ยงของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งต้องติดตามต่อไป เพราะตามที่ EA ได้แจ้งถึงเงินที่จะนำมาจ่ายคืนหุ้นกู้ ก็จะมาจากหลายแหล่ง”
เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า กรณีที่กล่าวโทษเป็นเรื่องเกิดขึ้นประมาณปี 2556-2558 ดังนั้น ต้องเป็นเรื่องของผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตรวจสอบต่อไป แต่สถานะ EA ปัจจุบันยังมีกระแสเงินสดและดำเนินการธุรกิจตามปกติในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ EA ต้องให้ความเชื่อมั่นว่า ในเมื่อเปลี่ยนแปลงผู้บริหารแล้ว ทิศทางกลยุทธ์ต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร
หั่นเรตติ้งกระทบชำระหนี้-หุ้นกู้
ส่วนผลกระทบด้านการชำระหนี้และหุ้นกู้นั้น ทางบริษัทมีการรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2567 บริษัทมีหนี้สินเงินต้นที่จะครบกําหนดชําระภายในปีนี้คงเหลือ 16,488 ล้านบาท จากหนี้สินรวม 69,854 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.เงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินและตั๋วแลกเงินระยะสั้น 8,144 ล้านบาท 2.เงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงิน จำนวน 2,852 ล้านบาท (ยอดรวมดอกเบี้ยเท่ากับ 3,200 ล้านบาท)
และ 3.หุ้นกู้ที่ถึงกําหนดชําระ 5,500 ล้านบาท จำนวน 2 รุ่น คือ EA248A วงเงิน 1,500 ล้านบาท ครบไถ่ถอนวันที่ 15 ส.ค. 2567 และ EA249A วงเงิน 4,000 ล้านบาท ครบไถ่ถอนวันที่ 29 ก.ย. 2567 จากหุ้นกู้ทั้งหมดรวม 16 รุ่น มูลหนี้รวม 31,166 ล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้ทั้งหมดที่บริษัทมีนั้น เป็นหุ้นกู้ไม่มีประกัน และมีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (Cross Default) กับสถาบันการเงิน หรือหุ้นกู้อื่น
ซึ่งทางบริษัทมีแผนที่จะชําระเงินกู้และหุ้นกู้ที่จะครบกําหนดในปีนี้ด้วยวิธี 1.กระแสเงินสด โดยในไตรมาส 1/2567 บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดําเนินกิจการ 1,900 ล้านบาท และจะมีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลมทุกเดือนประมาณ 1,000 ล้านบาท
2.วงเงินกู้จากสถาบันการเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาขั้นสุดท้ายของสถาบันการเงิน และ 3.หุ้นกู้ที่จะออกเพิ่มเติมในปีนี้ อย่างไรก็ดี จากการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ (Negative) เป็น BB+ (Negative) ได้ส่งผลกระทบต่อวงเงินกู้จากสถาบันการเงินและหุ้นกู้ใหม่ที่จะออกตามแผนเดิม
EA จ่อตั้งผู้ตรวจสอบภายนอก
ขณะที่ต่อมาทาง EA มีการเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัท นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. และมีมติอนุมัติให้สรรหาและแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายนอกเป็นกรณีพิเศษ เพื่อตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ตามการกล่าวโทษของสำนักงาน ก.ล.ต. ต่ออดีตผู้บริหารของบริษัท โดยยืนยันว่า หากผลการตรวจสอบพบว่า อดีตผู้บริหารที่ถูกกล่าวโทษได้กระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวโทษ บริษัทจะดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด
ถอนไฟลิ่งหุ้นกู้จาก ก.ล.ต.แล้ว
ล่าสุด ได้รับการยืนยันจากผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนตลาดตราสารหนี้ว่า ทาง EA ได้ถอนไฟลิ่งหุ้นกู้ วงเงิน 5,500 ล้านบาท ที่เตรียมจะออกปลายเดือน ก.ค.นี้จากที่ยื่นไว้กับ ก.ล.ต.แล้ว แต่จะยื่นกลับมาใหม่ หรือจะเลื่อนการออกหุ้นกู้ไปหรือไม่นั้น ยังต้องติดตาม
ฟันธงโรลโอเวอร์หุ้นกู้ไม่ได้
ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจสายงานตลาดเงินตลาดทุนรายหนึ่ง กล่าวว่า เชื่อว่า EA คงต้องพับแผนขายหุ้นกู้ เพราะไม่น่าจะขายใครได้ จากวิกฤตความเชื่อมั่น โดยเฉพาะนักลงทุนสถาบัน อย่าง บลจ.ไม่สามารถซื้อเพิ่มได้แน่นอน และที่ถืออยู่ก็ต้องขายทิ้ง เพราะกลายเป็น Junk Bond ส่วนนักลงทุนรายย่อยก็ไม่สามารถขายได้อีก เนื่องจากกลายเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือไฮยีลด์บอนด์ไปแล้ว
ดังนั้น ความหวังของเจ้าหนี้หุ้นกู้ EA จึงขึ้นอยู่กับธนาคารเจ้าหนี้ ว่าจะอุ้มหรือไม่ เหมือนเคสของบริษัทผู้รับเหมารายใหญ่ก่อนหน้านี้ หากแบงก์อุ้ม ก็ต้องยอมใส่เงิน มีการปรับโครงสร้างหนี้
“แม้ว่า EA จะมีสภาพคล่อง แต่คงไม่ได้นำมาจ่ายหนี้ทั้งหมด และแบงก์เองก็คงไม่ยอมที่จะให้บริษัทนำสภาพคล่องทั้งหมดมาจ่ายหนี้หุ้นกู้ โดยที่แบงก์ยังมีความเสี่ยงเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม ซึ่งตามตัวเลขจาก ก.ล.ต. หนี้แบงก์กับหนี้หุ้นกู้ของ EA ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นน่าจะมีการตั้งโต๊ะพูดคุยกัน ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพราะตลาดตราสารหนี้ตอนนี้ EA โรลโอเวอร์ไม่ได้แน่นอน ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่าแบงก์จะอุ้มหรือไม่ โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ มีหนี้เกินครึ่ง”
ก็ต้องบอกว่า ชะตากรรมของ EA ตลอดจนเจ้าหนี้ทั้งหมดของบริษัท ในตอนนี้ คงขึ้นกับแบงก์เจ้าหนี้ว่า จะอุ้มหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป