
ถอดรหัส “กัลฟ์+อินทัช” ควบรวมตั้งบริษัทใหม่ผงาดรวมร่างธุรกิจแห่งอนาคต “พลังงาน+ดิจิทัล +การเงิน” ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เพื่อก้าวกระโดด หลังผนึก “กูเกิล” ลุยธุรกิจคลาวด์-ดาต้าเซ็นเตอร์ จับตาเกมต่อไปเข้าสู่ธุรกิจการเงินเต็มตัว ผนึกพันธมิตรแบงก์กรุงไทย-โออาร์ สิงหาคมนี้ยื่นขอใบอนุญาต “ธนาคารไร้สาขา” บล.บัวหลวงที่ปรึกษาดีลควบรวม วิเคราะห์ 4 ประเด็นบวก GULF ร่างใหม่ ฐานทุนแกร่ง “หนี้สินต่อทุน” ต่ำลง เปิดช่องกู้ขยายธุรกิจเพิ่มได้อีกแสนล้าน ยกระดับเป็นหุ้น Growth Stock
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ( GULF) และ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ประกาศควบรวมกิจการ และจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ (NewCo) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทน GULF และ NTUCH หลังจากที่กัลฟ์ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในอินทัช ตั้งแต่ปี 2564
ควบรวม GULF-อินทัช “เพิ่มพลัง”
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GULF กล่าวว่า การควบรวม (Amalgamation) GULF และ INTUCH และจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 โดยช่วงที่ผ่านมา GULF ได้เข้าไปลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ INTUCH และ THCOM ได้ศึกษาแนวทางเลือกหลายแนวทางในการจัดโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่ม GULF และกลุ่ม INTUCH รวมไปถึง ADVANC และ THCOM ให้เหมาะสม ซึ่งภายหลังจากได้มีการหารือเห็นว่าแนวทางการควบรวมบริษัทระหว่าง GULF ผู้นำด้านธุรกิจพลังงาน และ INTUCH ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใน ADVANC ผู้นำด้านโทรคมนาคมของประเทศไทย น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เป็นประโยชน์กับทั้งสองบริษัทและผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย
รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้นำในการขยายงานด้านธุรกิจพลังงานและธุรกิจโทรคมนาคม โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะขยายไปสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ส่วนธุรกิจโทรคมนาคมก็จะเน้นต่อยอดธุรกิจไปในธุรกิจดิจิทัลมากขึ้น
“การควบรวมจะทำให้การบริหารจัดการของบริษัทภายในกลุ่มทั้งหมดมีความเข้มแข็งและชัดเจนมากขึ้น โดยการควบรวมกิจการในครั้งนี้เป็นธุรกรรมควบรวมขนาดใหญ่ ที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งในประเทศไทยและในสิงคโปร์ เกี่ยวข้องถึง 5 บริษัท ได้แก่ GULF, INTUCH, ADVANC THCOM และ Singtel เป็นธุรกรรมที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน ต้องคำนึงถึงผลกระทบในทุก ๆ ด้าน และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุก ๆ ฝ่าย ทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อย ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ สถาบันการเงิน และกองทุนต่าง ๆ”
บัวหลวง-UBS ที่ปรึกษาดีล
นอกจากนี้ นายสารัชถ์กล่าวว่า บริษัทก็หวังว่าการควบรวมครั้งนี้น่าจะเป็นข่าวในเชิงบวกสำหรับตลาดทุนไทย และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยธุรกรรมปรับโครงสร้าง คาดว่าจะเสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2568 โดยมี บล.บัวหลวง และ UBS AG Singapore Branch เป็นที่ปรึกษาในธุรกรรมนี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า วิธีการควบรวมกิจการแบบ Amalgamation คือ A+B เป็น C เป็นวิธีการจัดโครงสร้างที่ธุรกิจนิยม
โครงสร้างการถือหุ้นหลังปรับโครงสร้าง ทำให้บริษัทจัดตั้งใหม่ (NewCo) ซึ่งมีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GULF (นำโดย นายสารัชถ์ รัตนาวะดี) ถือหุ้นในบริษัทใหม่ 59.7% สิงเทล 9.08% และผู้ถือหุ้นอื่น 31.20% ขณะที่บริษัท NewCo ถือหุ้นใน ADVANC สัดส่วน 40.44% และถือหุ้นในไทยคม 41.44% โดยถือหุ้นผ่านบริษัท Gulf Edge
ผงาดรวมร่างธุรกิจแห่งอนาคต
แหล่งข่าวกล่าวว่ าครั้งนี้ถือเป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของ GULF ที่จะเปลี่ยนภาพของ GULF จากยักษ์พลังงาน โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด เป็นการหลอมรวมธุรกิจแห่งอนาคต ทั้งธุรกิจพลังงานสีเขียว กับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งเครือข่ายมือถือเอไอเอส และอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่มีฐานลูกค้าราว 50 ล้านราย รวมถึงล่าสุดที่ GULF ได้มีความร่วมมือกับกูเกิลในการเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ และดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย
แม้ว่าที่ผ่านมา GULF จะถือหุ้นอยู่ใน INTUCH และเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมใน ADVANC หรือ เอไอเอส แล้วก็ตาม แต่การหลวมรวมมาอยู่ภายใต้บริษัทเดียวกันจะทำให้การขับเคลื่อนธุรกิจมีความคล่องตัวและภาพการซินเนอร์ยี่ชัดเจนมากขึ้น เพราะตัวบริษัท INTUCH ก็เป็นแค่โฮลดิ้งถือหุ้น นอกจากนี้การควบรวมยังส่งผลในฐานะการเงินของ GULF ภายใต้บริษัทใหม่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ในแง่ของตัวหุ้นก็ทำให้กลายเป็นหุ้น Growth Stock คือหุ้นที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นและรวดเร็วกว่าหุ้นตัวอื่น ๆ ทั้งในแง่ของสินทรัพย์ รายได้ และกำไร
ถือเป็นการผสานความแข็งแกร่งของธุรกิจแห่งอนาคต นอกจากนี้ ทาง GULF และ ADVANC ยังมีความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยในความร่วมมือยื่นขอใบอนุญาตให้บริการธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ด้วย ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ตัวใหม่ที่จะพลิกโฉมธุรกิจ น่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่มาแรงทาบรัศมีธุรกิจเจ้าสัวทั้งหลาย
เกมต่อไปบุก “ธุรกิจการเงิน”
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ทิศทางการขยายอาณาจักรธุรกิจต่อไปของ GULF ก็คือการเข้าสู่ธุรกิจการเงินเต็มตัว โดยที่ผ่านมา GULF และ ADVANC ได้มีการลงนามความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย (KTB) ในการที่จะยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และล่าสุดก็ได้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เข้าร่วมเป็นพันธมิตรอีกราย
โดยพันธมิตรทั้ง 4 ราย ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ สำหรับการยื่นขอใบอนุญาตจาก ธปท.มาอย่างต่อเนื่อง โดยจุดแข็งของเอไอเอสคือมีฐานลูกค้าผู้ใช้บริการกว่า 50 ล้านราย ซึ่งมีรายงานว่า ธปท.จะพร้อมเปิดให้เอกชนผู้สนใจยื่นขอใบอนุญาตในเดือนสิงหาคมนี้
ทั้งนี้ รูปแบบของ Virtual Bank จะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อน เป็นการใช้ AI และ Big Data ในการสร้างบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ด้วยการใช้ลูกเล่นที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่นกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม
GULF ควบรวม AIS เพิ่ม Synergy
นายกิจพัฒน วงษ์เมตตา นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การควบรวมบริษัทระหว่าง GULF และ INTUCH เป็นบริษัทมหาชนจำกัดใหม่ (NewCo) มองว่ามี 4 ประเด็นหลัก คือ 1.เป็นการปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อลดความซ้ำซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้น ทำให้การบริหารจัดการมีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2.สร้างพอร์ตโฟลิโอทางธุรกิจที่มีความสมดุลของรายได้และกำไร ที่มาจากทั้งธุรกิจพลังงาน ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว
3.ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างทาง จากปัจจุบัน INTUCH รับเงินปันผลจาก ADVANC และต้องไปจ่ายปันผลให้ GULF (ผู้ถือหุ้น INTUCH) อีกรอบหนึ่ง เหมือนกับ GULF ต้องรอเงินปันผลจาก INTUCH ทั้งที่ INTUCH ไม่ได้ทำธุรกิจแค่ถือหุ้น ADVANC อย่างเดียว เพราะฉะนั้น จึงปรับโครงสร้างตัด INTUCH โดยการควบรวม
“ข้อดีตรงนี้คือทำให้ GULF สามารถควบคุม ADVANC ได้โดยตรง เวลาจะดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ก็มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการ Synergy กับ Singtel ที่อาจจะมีความเป็นพันธมิตรที่มากขึ้นในอนาคต เพราะเดิม Singtel ถือหุ้นผ่าน INTUCH แต่ต่อไปจะถือผ่าน GULF สะท้อนว่าการที่ Singtel มาเป็นผู้ถือหุ้น GULF ภายใต้บริษัทใหม่ การดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันก็น่าจะมีมากขึ้น”
หนี้สินต่อทุนต่ำลง กู้ได้เพิ่มแสน ล.
นายกิจพัฒนกล่าวว่า ภาพธุรกิจของ ADVANC ในวันนี้ ไม่ใช่แค่การดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมอย่างเดียว เพราะตั้งแต่กลุ่มกัลฟ์เข้ามา ก็มีการทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งในอนาคตหากจะขยายธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ต้องการไฟฟ้า
สีเขียวก็สามารถทำเองได้เลย และเชื่อว่าต้นทุนต่าง ๆ น่าจะอยู่ในระดับที่ดีกว่าคู่แข่งด้วย
และประเด็นที่ 4.คือช่วยเสริมฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยมีโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมในการจัดหาเงินทุนเพื่อโอกาสการเติบโตในธุรกิจของ GULF โดยประเมินว่าการควบรวมครั้งนี้จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (DE) ลดลงจากระดับ 1.7 เท่า เหลือราว 0.9 เท่า เนื่องจาก INTUCH ไม่มีหนี้
สะท้อนว่า GULF สามารถกู้เงินเพิ่มได้เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยคาดว่า GULF จากเดิมที่มีรูมในการกู้เงินอยู่ราว 100,000-150,000 ล้านบาท จะสามารถกู้เพิ่มได้อีก 50,000-100,000 ล้านบาท ดังนั้นจะเท่ากับมีรูมในการกู้เต็มเพดาน 250,000 ล้านบาท และคาดจะมีกระแสเงินสดเข้ามาประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท จากปันผลของ ADVANC
หนุนตัวเลขกำไรเพิ่ม 3 พันล้าน
นายกิจพัฒนกล่าวต่อว่า ประเมินดีลนี้จะทำให้กำไรต่อหุ้น (EPS) ของ GULF เพิ่มขึ้น จากเดิมคาดสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1.54 บาทต่อหุ้น หากกลายเป็น NewCo จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.66 บาทต่อหุ้น และในเชิงมูลค่าหุ้น (Valuation) ถ้าอิงจากราคาเป้าหมายของ GULF ที่ 68 บาท และราคาเป้าหมายของ ADVANC ที่ 270 บาท ตีออกมาเป็นราคาเป้าหมายของ NewCo อยู่ที่ประมาณ 65.30 บาท
ในแง่อัตราส่วนราคาต่อกำไร (PE) ของ NewCo ถ้าอิงจากราคาตลาดของ GULF และ INTUCH รวมถึง ADVANC ในวันนี้และคำนวณออกมา สมมติว่าวันนี้เป็น NewCo เรียบร้อยแล้ว จะมี PE ที่ระดับ 25.5 เท่า ลดลงจากปัจจุบันที่ PE ของ GULF อยู่ที่ระดับ 27.4 เท่า
ขณะเดียวกันหากมองในภาพของการเติบโต (Growth) จะยังอยู่ในระดับเติบโตสองหลัก โดยประเมินว่าในปี 2567-2569 กำไรต่อหุ้น (EPS) น่าจะเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) ที่ประมาณ 11% และคาดว่าจากดีลนี้จะเห็นตัวเลขกำไรของ GULF เพิ่มเข้ามา 2,000-3,000 ล้านบาท จากประมาณการกำไรปี 2567 อยู่ที่ 18,000 ล้านบาท และปี 2568 อยู่ที่ 19,900 ล้านบาท
สำหรับผู้ที่ถือหุ้น GULF จะแลกหุ้น NewCo ได้ในอัตราส่วน 1 หุ้นต่อ 1.03 หุ้น NewCo และผู้ที่ถือหุ้น INTUCH แลกหุ้นในอัตราส่วน 1 หุ้นต่อ 1.7 หุ้น NewCo
เทนเดอร์ราคาต่ำไม่อยากได้หุ้นเพิ่ม
ด้านนายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนธุรกรรมทำคำเสนอซื้อหุ้น (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ทั้งหมดโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขของ ADVANC ที่ราคา 216.3 บาท/หุ้น (สัดส่วน 36.25%) ต้องใช้เงินลงทุน 116,601 ล้านบาท และ THCOM ที่ราคา 11 บาท/หุ้น (สัดส่วน 58.86%) ใช้เงินลงทุน 6,976 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด
สะท้อนว่า GULF ไม่ได้มีความประสงค์จะซื้อหุ้นเพิ่ม เช่นเดียวกับเมื่อช่วง 2 ปีก่อนที่ GULF ทำคำเสนอซื้อหุ้น INTUCH และต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น ADVANC และ THCOM ด้วย ซึ่งตอนนั้นก็เสนอต่ำกว่าราคาตลาดเช่นกัน และก็ไม่มีคนขาย
“การทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด เกิดขึ้นเพราะข้อกำหนดของกฎหมาย เพราะฉะนั้น ดีลนี้เรามองว่าจะไม่มีเงินลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี เชื่อว่า GULF คงจะต้องเตรียมแหล่งเงินทุนจากวงเงินสินเชื่อจากแบงก์ไว้ก่อน”
อย่างไรก็ตาม มองธุรกรรมดังกล่าวมีผลดีต่อ GULF จากปัจจัย DE ที่ลดลง จากระดับ 2 เท่า เหลือ 1 เท่า สะท้อนความสามารถในการกู้เพิ่มเพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้มากขึ้น และก็ทำให้ราคาหุ้น GULF ควรจะเพิ่มขึ้น ในอนาคตเรื่องของความสามารถในการก่อหนี้นั้นจะไปลงทุนอะไรบ้าง ตอนนี้ยังเป็นเรื่องที่จับต้องยาก
หุ้น INTUCH ระยะสั้นน่าสนใจ
นายพิสุทธิ์กล่าวว่า ดีลนี้ถือเป็นบวกสำหรับ INTUCH ด้วย จากที่จากเดิมจะได้รับเงินปันผล 4 บาทต่อหุ้น และมีการจ่ายปันผลพิเศษอีกในอัตรา 4.50 บาท/หุ้น ดังนั้นผู้ถือหุ้น INTUCH หากถือหุ้นไปอีก 3 ไตรมาสข้างหน้า มีโอกาสจะได้เงินปันผลสูงถึง 8.50 บาทต่อหุ้น จากราคาหุ้นที่กว่า 70 บาท อัตราผลตอบแทนถือว่าสมน้ำสมเนื้อ
คำแนะนำการลงทุน สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนเพราะอยากได้เงินปันผล เมื่อรับปันผลครบแล้วควรจะต้องหาหุ้นตัวใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกัน เช่น เข้าซื้อ ADVANC และควรขาย INTUCH ทิ้งไป กรณีไม่แลกหุ้นเป็น NewCo ส่วนผู้ลงทุนที่อยากได้การเติบโตก็ต้องแลกหุ้น NewCo ซึ่งเป็นหุ้น Growth เข้ามาอยู่ในพอร์ต
ยึดโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ GULF ยักษ์ใหญ่ธุรกิจไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ที่มีนายสารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งหลังจากได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน INTUCH ตั้งแต่ปี 2564 ถือเป็นการเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล รวมถึงการร่วมมือกับ Singtel ในการจัดตั้งธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย
และช่วงปี 2565 GULF ได้ขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ร่วมกับยักษ์ไบแนนซ์ จัดตั้งบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด เพื่อพัฒนาและดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย
และเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 บริษัท กัลฟ์ เอดจ์ จำกัด (Gulf Edge) บริษัทย่อยที่ GULF ถือหุ้น 100% ลงนามความร่วมมือกับ “กูเกิล เอเชียแปซิฟิก” เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการระบบ “คลาวด์อธิปไตย หรือ Sovereign Cloud Services” ในประเทศไทยเป็นรายแรกและรายเดียว ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับการขับเคลื่อนนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล
โดยนายสารัชถ์กล่าวว่า GULF เล็งเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทยจากเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น บริษัทจึงได้ลงทุนในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมและธุรกิจดาวเทียม ทั้งได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อสนับสนุนการเติบโตของระบบนิเวศโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจของบริษัทและเป็นการตอบสนองความต้องการในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว