
ดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด เจ้าหน้าที่เฟดเข้าสู่ช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน ก่อนที่เฟดจะจัดประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2567
วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 36.27/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
เงินบาททรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/7) ที่ระดับ 36.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐเล็กน้อย โดยเมื่อคืนวันศุกร์ (19/7) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการกำหนดช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันเสาร์ (20/7) ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30-31 กรกฎาคม
โดยกฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
และคืนวานนี้ (22/7) เฟดสาขาชิคาโก มีการเปิดเผย ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศ หรือ Chicago Fed National Activity Index (CFNAO) ปรับตัวลงสู่ระดับ +0.05 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ +0.23 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในผลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ -0.09
สำหรับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 3 เดือน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ -0.01 จากระดับ -0.08 โดยดัชนี CFNAI เป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐจำนวน 85 รายการ โดยในจำนวนนี้มีตัวชี้วัด 42 รายการที่ส่งผลบวกต่อดัชนีในเดือนมิถุนายน ขณะที่อีก 43 รายการ ส่งผลลบต่อดัชนี จากตัวชี้วัดทั้ง 85 รายการ มี 30 รายการปรับตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายน ขณะที่อีก 54 รายการปรับตัวแย่ลง ส่วนอีก 1 รายการไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นักวิเคราะห์ระบุว่า ดัชนี CFNAI ถือเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุดในการประเมินความเสี่ยงในการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีรายงานจากทางสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (20/7) ว่า ไบเดนประกาศถอนตัวจากการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ และประกาศสนับสนุนนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐให้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ แข่งกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน
สำหรับปัจจัยในประเทศ ช่วงเที่ยงวันนี้ (23/7) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (24/7) จะมีการแถลงข่าวโครงการดิจิทัลวอลเลต โดยมีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวถึงความชัดเจน รวมถึงรายละเอียดประชาชนจะเข้าสู่กระบวนการ โครงการดิจิทัล และคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินได้ภายในเดือนตุลาคมนี้
และยังกล่าวว่า ขณะนี้มีร้านค้าตอบรับการลงทะเบียนแล้วจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสมาคมค้าปลีกกว่า 50,000 ร้านค้า ร้านธงฟ้าประมาณ 148,000 ร้านค้า ร้านอาหารธงฟ้าอีกประมาณ 5,000 ร้านค้า และได้ทยอยติดต่อ โดยแยกการทำงานทั้งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลหาบเร่แผงลอยที่ตอบรับแล้วประมาณ 500,000 แผง
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.21-36.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/7) ที่ระดับ 1.0892/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/7) ที่ระดับ 1.0884/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในวันนี้ตลาดยังไร้ปัจจัยใหม่สนับสนุนแรงซื้อขาย ตลาดรอจับตาตัวเลขทางเศรษฐกิจในสัปดาห์ต่อไป ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0866-1.0896 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0869/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/7) ที่ระดับ 156.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/7) ที่ระดับ 157.48/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19/7) ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินสัปดาห์หน้า
รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีงบประมาณปัจจุบันจนถึงเดือนมีนาคม 2568 จะขยายตัว 0.9% ลงจากตัวเลขประมาณการเดิมที่ 1.3% เนื่องจากเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และอุตสาหกรรมยานยนต์
ด้านสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ปรับลดแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง เหลือโต 0.5% จากตัวเลขประมาณการเดิมที่ 1.2% อย่างไรก็ดี ตัวเลขคาดการณ์นี้ยังดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ระบุว่า GDP ที่แท้จริงของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น 0.44%
นักวิเคราะห์บางรายให้ความเห็นว่า ค่าเงินเยนอาจถึงจุดเปลี่ยนหลังจากที่อ่อนค่าลงตั้งแต่ต้นปี 2567 เนื่องจากเฟดมีแนวโน้มใกล้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และเป็นที่คาดการณ์กันในวงกว้างว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 155.81-156.74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 155.96/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือนมิถุนายน (23/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนกรกฎาคมจากเอสแอนด์พี โกลบอล (24/7), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนกรกฎาคมจากเอสแอนด์พี โกลบอล (24/7), ยอดขายบ้านใหม่เดือนมิถุนายน (24/7), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (24/7),
จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (25/7), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิถุนายน (25/7), ประมาณการเบื้องต้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2567 (25/7), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมิถุนายน (26/7), ประมาณการครั้งสุดท้ายดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/7),
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.0-8.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.5/-7.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ