
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/7) ที่ระดับ 36.11/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/7) ที่ระดับ 36.20/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการรายงานเมื่อคืนนี้ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า
ยอดขายบ้านมือสองลดลง 5.4% สู่ระดับ 3.89 ล้านยูนิตในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2566 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.99 ล้านยูนิต แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) ก่อนที่จะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 30-31 ก.ค.
โดยกฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นหรือให้สัมภาณณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ สองก่อนที่การประชุม FOME จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC เพื่อป้องกันไม่ให้สาธารณชนตีความว่าเป็นการบ่งชี้การดำเนินการด้านอัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมาถึง
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ โดยล่าสุดนายเอริก ชมิตต์ สมาชิกวุฒิสภาสังกัดพรรครีพับลิกัน และนางแนนซี่ เมซ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกัน ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการบังคับใช้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 25 เพื่อถอดถอนโจ ไบเดน ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากเขาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
สำหรับปัจจัยภายในประเทศวันนี้ (24/7) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกสารคลัง แถลงข่าว “ดิจิทัลวอลเลต โครงการเพื่อประชาชน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ววันนี้” ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
โดยแถลงรายละเอียดเรื่องการลงทะเบียนโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท นายจุลพันธ์ได้ย้ำแหล่งเงินของโครงการเงินดิจิทัลว่า ใช้งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท สำหรับประชาชนผู้ได้รับสิทธิ์ 45 ล้านคน จากเดิม 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ดังนี้ งบประมาณปี 2567 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 122,000 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 43,000 ล้านบาท ส่วนงบประมาณปี 2568 กรอบงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 152,700 ล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 132,300 ล้านบาท
ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 36.05-36.18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/7) ที่ระดับ 1.0847/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/7) ที่ระดับ 1.0835/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอลอยู่ที่ระดับ 50.1 ในเดือน ก.ค. ลดลงจากระดับ 50.9 ในเดือน มิ.ย. และต่ำกว่าที่โพลของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ 51.1
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว ด้านดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 51.9 ในเดือน ก.ค. ลดลงจากระดับ 52.8 ในเดือน มิ.ย. และต่ำกว่าที่โพลคาดการณ์ไว้ที่ 53.0 แม้บริษัทในภาคบริการต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือนนี้ แต่กลับปรับราคาสินค้าและบริการขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยดัชนีราคาผลผลิตลดลงมาอยู่ที่ 53.2 จาก 53.5 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0826-1.0854 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (24/7) ที่ระดับ 155.76/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (23/7) ที่ระดับ 156.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นจาก au Jibun Bank ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global market Intelligence) อยู่ที่ระดับ 49.2 ในเดือน ก.ค. ลดลงจากระดับ 50 ในเดือน มิ.ย. และอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว ในทางตรงกันข้าม กิจกรรมภาคบริการในเดือน ก.ค.ฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้า
โดยมีธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นจาก au Jibun Bank อยู่ที่ระดับ 53.9 ในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.4 ในเดือน มิ.ย. และแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน ธุรกิจคงค้างของภาคบริการเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ซึ่งบ่งชี้ว่ามีแรงกดดันต่อกำลังการผลิต ด้านดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นจาก au Jibun Bank อยู่ที่ระดับ 52.6 ในเดือน ก.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.7 ในเดือน มิ.ย.
ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 154.50-155.77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 154.79/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ยอดขายบ้านใหม่เดือนมิถุนายน (24/7), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (247), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (25/7), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิถุนายยน (25/7), ประมาณการเบื้องต้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2567 (25/7), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมิถุนายน (26/7), ประมาณการครั้งสุดท้ายดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/7)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.8/-8.95 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -8.9/-7.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ