เงินบาทผันผวนในกรอบ รอปัจจัยใหม่สนับสนุน

เงินบาท

เงินบาทผันผวนในกรอบ รอปัจจัยใหม่สนับสนุน นักลงทุนยังรอติดตามศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีคุณสมบัตินายกฯ ของนายเศรษฐา ทวีสิน ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ 

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 36.06/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (25/7) ที่ระดับ 36.16/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวผันผวนเทียบเงินสกุลหลัก หลัง Dollar Index ปรับตัวในกรอบเดิมที่ระดับ 104.39 ขณะที่ดัชนี PMI รวมภาคผลิต-บริการสหรัฐ พุ่งสูงสุดรอบกว่า 2 ปีในเดือน ก.ค. โดยดอลลาร์ปรับตัวแคบ ๆ เทียบเงินยูโรและปอนด์ และปรับตัวขึ้นเทียบทองคำ ขณะที่ยังคงอ่อนค่าเทียบเงินเยน

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ (25/07) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ลดลง 0.6% ในเดือน มิ.ย.เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 617,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 640,000 ยูนิต และเมื่อเทียบรายปี ดิ่งลง 7.4% ในเดือน มิ.ย. โดยได้รับผลกระทบจากการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และราคาบ้านในระดับสูง

นอกจากนี้ เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.0 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือน จากระดับ 54.8 ในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้การขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคบริการ

ขณะที่ภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

ADVERTISMENT

ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้น ปรับตัวลงสู่ระดับ 49.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จากระดับ 51.6 ในเดือน มิ.ย. ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 เดือน จากระดับ 55.3 ในเดือน มิ.ย.

โดยช่วงแรกทองคำได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ รวมถึงการร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ก่อนจะย่อตัวลงจากแรงขายทำกำไรระยะสั้น และการฟื้นตัวของดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ

ADVERTISMENT

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐผันผวนระหว่างวัน ตามการผันผวนของค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์ ขณะที่การแถลงรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่มีเรื่องใหม่ รวมทั้งนักลงทุนยังรอติดตามศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีคุณสมบัตินายกฯของนายเศรษฐา ทวีสิน ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ ซึ่งไม่ได้ส่งผลต่อค่าเงินบาทมากนัก โดยตลาดยังคงติดตามการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐและผลการประชุม BOJ ของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.05-36.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/7) ที่ระดับ 1.0840/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/7) ที่ 1.0839/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยวานนี้ (24/7) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่ากิจกรรมทางธุรกิจของสหภาพยุโรป (EU) ลดลงในเดือน ก.ค. เนื่องจากกิจกรรมธุรกิจของเยอรมนีหดตัวอย่างคาดไม่ถึง ขณะที่ฝรั่งเศสก็หดตัวเช่นกัน

โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นต้นของยูโรโซน ซึ่งรวบรวมโดย S&P Global ลดลงสู่ระดับ 50.1 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. ซึ่งแม้ว่าดัชนี PMI จะอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าธุรกิจขยายตัว แต่ตัวเลขค่อนข้างน่าผิดหวัง

ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจด้านนโยบายทางการเงินของธนาครกลางยุโรป (ECB) ซึ่งคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และส่งสัญญาณว่ามีความเปิดกว้างว่าอาจปรับลดดอกเบี้ยลงในเดือน ก.ยง ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0828-1.0858 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0845/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/7) ที่ระดับ 153.24/28 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24/7) ที่ 154.71/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นผ่านระดับสำคัญเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 24 ก.ค. 2567 ส่งผลให้กลยุทธ์การซื้อขายแบบ Carry Trade ทั่วโลกเริ่มผ่อนคลาย ซึ่งส่งผลให้สกุลเงินต่าง ๆ อ่อนค่าขึ้น

นอกจากนี้ตลาดยังจับตาการประชุมนโยบายการเงินของทางญี่ปุ่นในวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2567 โดยนักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์เชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ และอาจมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. หรือเดือน ต.ค.

แหล่งข่าวกล่าวว่า การตัดสินใจด้านดอกเบี้ยยังไม่เป็นที่แน่นอน และตัดสินใจได้ยากลำบากเนื่องจากแนวโน้มการบริโภคยังไม่ชัดเจน แม้ว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่จะเห็นด้วยถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ แต่ยังบรรลุข้อตกลงได้ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ หรือในการประชุมช่วงปลายปี ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.94-153.97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 152.52/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (25/7), ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิถุนายน (25/7), ประมาณการเบื้องต้นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2567 (25/7), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมิถุนายน (26/7), ประมาณการครั้งสุดท้ายดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.1/-8.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.1/-8.9 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ