“สมคิด” เข็น PPP Fast Track ลั่นห้ามล่าช้า คาดเห็น 3 โครงการในปีนี้ มูลค่าลงทุนรวม 446,874 ล้าน

แฟ้มภาพ

“สมคิด” เข็น PPP Fast Track ลั่นห้ามล่าช้าเกินปีนี้ คาดเห็น 3 โครงการภายในปีนี้ มูลค่าการลงทุนรวม 446,874 ล้านบาท

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ว่า ที่ประชุม พยายามเร่งรัดทุกโครงการลงทุน ตาม PPP Fast Track ให้เป็นไปตามเป้าหมาย จากเดิมที่หลายโครงการมีแนวโน้มว่าจะล่าช้า แต่หลังจากนี้จะพยายามไม่ให้ล่าช้า หากไม่จำเป็น โดยได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมทางหลวง เป็นต้น มาคุยและเร่งรัดให้โครงการเดินหน้าภายในปี 2561 นี้ให้ได้

“โครงการลงทุน PPP เหล่านี้มีความสำคัญ เพราะสะท้อนถึงการลงทุนภาครัฐที่มีสัดส่วนอยู่ใน GDP” นายสมคิดกล่าว

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการ PPP กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 2/2561 วันนี้ (21 พ.ค.) ณ กระทรวงการคลัง ที่ประชุม ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้

โดยภายในปี 2561 คาดว่าจะมีโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track นำเสนอต่อคณะกรรมการ PPP พิจารณาอย่างน้อย จำนวน 3 โครงการ ประมาณการมูลค่าเงินลงทุนรวม 446,874 ล้านบาท ได้แก่
1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม – ชะอำ 80,600 ล้านบาท
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก 128,235 ล้านบาท
3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกและตะวันออก 238,039 ล้านบาท

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ของกระทรวงคมนาคมอีกจำนวน 5 โครงการ ประมาณการมูลค่าเงินลงทุนรวม 240,126 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการ Rest Area ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา 2) โครงการ Rest Area ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี 3) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต

4) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ และ 5) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา
โดยเร่งรัดการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนในหัวเมืองต่างๆ ในต่างจังหวัด เพื่อเป็นการกระจายการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปสู่ภูมิภาค และบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่นของหัวเมืองหลัก