คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด ผู้เขียน : ดร.นครินทร์ อมเรศ ธนาคารไทยพาณิชย์
ภัยทุจริตทางการเงินไทยมีปริมาณความเสียหายสูง และมีรูปแบบที่หลากหลายผ่านช่องทางพื้นฐาน การใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จนถึงแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เป็นเหตุให้มี พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. ๒๕๖๖ มุ่งจัดการอย่างเป็นระบบ แลกเปลี่ยนข้อมูล ระงับธุรกรรม และกำหนดบทลงโทษ แล้วบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในระบบนิเวศต้านภัยการเงินดิจิทัลไทยควรจะเป็นอย่างไร ?
ขอแลกเปลี่ยนมุมมองด้วยผลส่วนหนึ่งจากโครงการศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศต้านภัยการเงินดิจิทัลไทย จำแนกออกเป็น 4 ด้าน คือ การมีส่วนร่วม, การตระหนักรู้, กฎหมายและแรงจูงใจ และเทคนิค โดยสามารถจัดกลุ่มได้เป็น
ผู้ใช้บริการ : มีส่วนเกี่ยวข้องหลักกับการรับทราบการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์และบริการ การแจ้งเตือนของภาครัฐ ตลอดจนการเข้าถึงจากมิจฉาชีพเอง ผ่านประสบการณ์การใช้งาน (User Experience-UX) และส่วนต่อประสานการใช้งาน (User Interface-UI) หรือที่รู้จักกันดีว่า คือ UX/UI
โดยบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ใช้บริการจึงอยู่ที่การมีส่วนร่วม และการตระหนักรู้ในระบบนิเวศ โดยมุ่ง 3 ประเด็นหลัก คือ
– บริหารจัดการพฤติกรรมเสี่ยงให้เหมาะสม เนื่องจากคนไทยมองโลกในแง่ดีและมีแนวโน้มจะรับความเสี่ยงได้มาก
– สนับสนุนการสร้างความเชื่อมั่นของสาธารณะ (Public Trust) บนพื้นฐานของความเข้าใจในหลักการไม่ใช่บุคคล
– ส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล ไม่รีบร้อนดำเนินการภายใต้ความกดดัน
ภาครัฐ : มีส่วนเกี่ยวข้องหลักกับการกำกับดูแลโครงสร้างธรรมาภิบาลในระบบนิเวศ ผ่านการบังคับใช้กฎหมาย กำหนดนโยบายและติดตามให้บรรลุเป้าหมายในทางปฏิบัติ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ทั้งในส่วนของกฎเกณฑ์ กติกา ความรู้พื้นฐาน ความเสี่ยง และประโยชน์ของสาธารณะ ความรับผิดชอบของภาครัฐจึงอยู่ที่การตระหนักรู้ รวมทั้งกฎหมายและแรงจูงใจ ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศต้านภัยการเงินดิจิทัลไทย ใน 3 ประเด็นหลัก
– บ่มเพาะการเป็นหุ้นส่วนร่วมมีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการอย่างเหมาะสม
– ปรับการจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้การบริหารจัดการแบบองค์รวมให้ทำงานร่วมกันได้ไร้รอยต่อ
– ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการทำงานด้วยตัวชี้วัดหลักของระบบนิเวศ (Key Performance Indicators-KPIs)
ภาควิชาการ : มีส่วนเกี่ยวข้องหลักกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศ ซึ่งครอบคลุมทั้งระบบเทคโนโลยีและทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนติดตามและให้คำแนะนำต่อระบบธรรมาภิบาล เพื่อให้ผลจากการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินนโยบาย ตอบโจทย์ความคาดหวังของสาธารณะ ความรับผิดชอบของภาควิชาการจึงอยู่ที่กฎหมายและแรงจูงใจ และเทคนิคที่จะยกระดับระบบนิเวศ 3 ประเด็นหลัก
– จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยคำนึงถึงการนำไปปฏิบัติ
– ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบนิเวศ เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์
– แสวงหาทางออกด้วยงานวิจัยที่ล้ำหน้า (Frontier Research) เพื่อให้เท่าทันกับเทคโนโลยีและสถานการณ์สากล
ผู้ให้บริการ : มีส่วนเกี่ยวข้องหลักกับการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ UX/UI ของลูกค้า ตลอดจนมีส่วนร่วมในการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนพัฒนาเครื่องมือของภาคธุรกิจเองให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และมีส่วนสนับสนุนความมั่นคงปลอดภัยของสาธารณะ ความรับผิดชอบของผู้ให้บริการทั้งทางการเงิน โทรคมนาคม และอื่น ๆ จึงอยู่ที่เทคนิคและการมีส่วนร่วมในการต้านภัยการเงินดิจิทัล โดยมุ่งไปที่
– ทุ่มเทให้บริการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ ภายใต้กลไกตลาดและการกำกับดูแล
– ออกแบบมาตรฐานร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรม เติมเต็มการทำงานในระบบนิเวศให้สามารถปิดช่องว่างได้
– สร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายทางธุรกิจและความมั่นคงปลอดภัยของสังคม อันจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว
การออกแบบระบบนิเวศต้านภัยการเงินดิจิทัลไทย ไม่สามารถดำเนินการได้จากการอาศัยองค์ความรู้ หรือการมีส่วนร่วมของภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง แต่ต้องดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเป็นที่ปฏิเสธได้ยากยิ่งว่าพวกเราทุกคนจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับระบบนิเวศนี้
อย่างไรก็ดี ความคาดหวังของสาธารณะที่มีสูงกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นแรงกระตุ้นสำคัญและสะท้อนผลการทำงานของระบบนิเวศว่ายังคงมีช่องว่างอยู่อีกมาก จึงต้องการการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ที่แบ่งบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างชัดเจน และต้องเร่งดำเนินการให้ทันการณ์
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด