ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 35.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทแข็งค่า จากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/07) ที่ระดับ 36.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป
ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.50% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.60% ในเดือน พ.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 2.60% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับที่คาดการณ์ จากระดับ 2.60% ในเดือน พ.ค.
ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 66.40 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 66.0 จากระดับ 68.2ในเดือน มิ.ย. ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ท่ามกลางความไม่แน่นอนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ด้านเฟดสาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า
แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.8% ในไตรมาส 3/2567 เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งต่อไปในวันที่ 1 ส.ค. ทั้งนี้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 1/2567 และ 2.8% ในไตรมาส 2/2567 สำหรับในปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.2%, 2.1%, 4.9% และ 3.4% ในไตรมาส 1, 2, 3 และ 4 ตามลำดับ
สำหรับปัจจัยในประเทศ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังเปิดเผยว่า ในวันนี้ (30/07) ยังไม่มีการนำรายละเอียดโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะนำเข้า ครม.อีกครั้งเมื่อยอดการลงทะเบียนชัดเจน ซึ่งวันที่ 1 ส.ค. จะสามารถลงทะเบียนให้กับประชาชนได้ ขณะที่ร้านค้าต่าง ๆ สามารถดำเนินการต่อได้
โดยจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อตรวจเช็คกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้หลายอย่างเรียบร้อยหมดแล้ว ขณะที่กลุ่มบุคคลที่ไม่มีสมาร์ทโฟน จะมีการประกาศหลังวันที่ 10 ก.ย. โดยจะมีการแถลงข่าวอย่างชัดเจนว่าจะสามารถลงทะเบียนได้อย่างไร รวมถึงกลุ่มร้านค้าที่จะมาลงทะเบียน โดยจะมีการชี้แจงรายละเอียดทั้งหมด ส่วนผู้ป่วยติดเตียงและยังไม่เป็นผู้พิการ
อีกทั้งกล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณางบกลางปี 2567 ที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตวันพรุ่งนี้ (31/07) ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะผิดระเบียบหรือไม่นั้นว่า ขั้นตอนการประชุมคณะอนุกรรมการวิสามัญงบปี 2567 ได้เชิญ 8 หน่วยงานมาชี้แจง ซึ่งแม้จะมีข้อห่วงใยหรือสุ่มเสี่ยง แต่ผู้ที่ถือกฎหมายและกำกับอยู่ยืนยันว่าสามารถทำได้ และเป็นไปตามกรอบสามารถดำเนินการได้ใช้ได้ และถูกต้อง ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.94-36.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/07) ที่ระดับ 1.0820/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/07) ที่รดับ 1.0853/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนรอดูผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ในวันพฤหัสบดีนี้ (01/08) และของเฟดในคืนวันนี้ (30/07) และพรุ่งนี้ (31/07) บรรดาเทรดเดอร์คาดว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลงแต่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือน ก.ย. ส่วนด้าน BOE มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกในการประชุมสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0813-1.0835 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0832/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวเปิดตลาดเช้าวันนี้ (30/07) ที่ระดับ 156.72/74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/07) ที่ระดับ 154.59/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26/07) นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในครั้งงนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินว่า BOJ จะปรับลดโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างไรหลังจากที่ BOJ ระบุในเดือน มิ.ย.ว่า
จะปรับลดจำนวนการซื้อพันธบัตร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าตลาดการเงินจะสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น บรรดาเทรดเดอร์คาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 0.1% จากปัจจุบันที่ระดับ 0.0%-0.1% และคาดว่า BOJ อาจจะประกาศลดการซื้อพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่นในการประชุมครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 153.61-155.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 154.80/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ราคาบ้านเดือน พ.ค. จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์ (30/07), ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือน มิ.ย. (30/07), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. จาก Conference Board (30/07), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของเดือน ก.ค. จาก ADP (31/07), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือน มิ.ย. (31/07), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (31/07), ประชุมนโยบายการเงินของเฟด (30-31/07), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (01/08), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน ก.ค. จาก S&P Global (01/08), ดัชนีภาคการผลิตเดือน ก.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (01/08), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือน มิ.ย. (01/08), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. (02/08) รวมถึง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน ก.ค. ของกลุ่มยูโรโซน, ประชุมนโยบายการเงินของ BOJ (30-31/07) และประชุมนโยบายการเงินของ BOE (01/08)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.6/-9.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.9/-8.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ