SCB นำทีมปรับโครงสร้างหนี้ EA เลื่อนหุ้นกู้ไปปีหน้า-ดิ้นหาผู้ร่วมทุนใหม่

EA

EA ดิ้นรนเต็มที่ ลุยปรับโครงสร้างหนี้-บริหารกระแสเงินสด “SCB” เจ้าหนี้รายใหญ่แกนนำหลัก ล่าสุด โยกหนี้ตั๋วเงินระยะสั้นเป็นหนี้แบงก์แทนแล้ว พร้อมยืดหนี้ออกไป 3 ปี ดึงรายได้ธุรกิจไฟฟ้าทยอยชำระคืน พร้อมเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 2 รุ่นที่ครบดีลปีนี้ 5,500 ล้านบาท เลื่อนครบกำหนดไปปีหน้า พร้อมตั้ง “CEO-CFO” ใหม่ ดึง “สุพันธุ์ มงคลสุธี” นั่งบอร์ดแทน “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้ทำหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นกู้ รุ่น EA248A วงเงิน 1,500 ล้านบาท ในวันที่ 9 ส.ค.นี้ และ รุ่น EA249A วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในวันที่ 14 ส.ค. โดยมีการแจ้งวาระการประชุมล่วงหน้า ว่าจะมีการขอเลื่อนกำหนดการไถ่ถอนหุ้นกู้ ที่จะครบกำหนดชำระออกไป โดยรุ่น EA248A ขอเลื่อนออกไป 10 เดือน 15 วัน ไปครบกำหนดชำระในวันที่ 30 มิ.ย. 2568 ส่วนรุ่น EA249A ขอเลื่อนออกไป 9 เดือน 1 วัน จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 29 ก.ย. 2567 นี้

โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด พร้อมกับมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย รุ่น EA248A อีก 1.89% ต่อปี จากเดิมดอกเบี้ยคงที่ 3.11% ต่อปี เป็น 5% ต่อปี และรุ่น EA249A อีก 1.8% ต่อปี จากเดิมอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.2% ต่อปี เป็น 5% ต่อปี

ซึ่งในหนังสือดังกล่าวบริษัทได้ยืนยันและรับรองว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัท ยังคงเป็นไปตามปกติ โดยไม่มีข้อขัดข้องใด ๆ และบริษัทเชื่อมั่นว่า ภาพรวมของการประกอบธุรกิจของบริษัท ยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะมีรายได้เข้ามายังบริษัทอย่างสม่ำเสมอ

โดยแหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับการชำระหนี้หุ้นกู้และดอกเบี้ย จะมาจาก (1) กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัท โดยบริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกระแสเงินสดหลักให้กับบริษัท

(2) เงินทุนที่ได้รับจากการเข้าร่วมทุนกับผู้ร่วมทุนรายใหม่ Strategic Partner(s) ที่ให้ความสนใจที่จะร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งขณะนี้บริษัท “อยู่ระหว่างเจรจา” และ พิจารณาคัดเลือก Strategic Partner(s) เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการเงิน เพิ่มศักยภาพในการชำระหนี้ และพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

Advertisment

(3) การจำหน่ายสินทรัพย์ของบริษัท ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่นักลงทุนที่ให้ความสนใจ

ล่าสุด EA ได้ปรับเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ โดยแต่งตั้งนายฉัตรพล ศรีประทุม ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แทน นายสมใจนึก เองตระกูล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่เพิ่งแต่งตั้งไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ นายสมใจนึก ยังคงปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการเช่นเดิม

Advertisment
ฉัตรพล ศรีประทุม
ฉัตรพล ศรีประทุม

 

ขณะเดียวกันยังแต่งตั้งนายวสุ กลมเกลี้ยง เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน (CFO) และแต่งตั้งนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทแทน นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ กรรมการที่ลาออก ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป

แหล่งข่าวจากธนาคารเจ้าหนี้ EA รายหนึ่ง เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาของ EA นั้น ธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จะเป็นแบงก์หลักที่ทำหน้าที่เป็นผู้เจรจาทำดีลปรับโครงสร้างหนี้ โดยล่าสุดได้เจรจานำหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้นของ บลจ.แอสเซท พลัส (Asset Plus) เข้ามารวมอยู่ในหนี้แบงก์แล้ว เพื่อยืดระยะเวลาจ่ายหนี้ออกไปเป็น 3 ปี

โดยแลกกับการชำระหนี้จากกระแสเงินสด (Cash Flow) ในการดำเนินงานของ EA ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาครัฐ (PPA) ซึ่งจะทยอยจ่ายเป็นรายเดือน จำนวน 36 เดือน เพื่อไม่เป็นการกดดันให้ EA จะต้องสูญเสียกระแสเงินสดให้กับการจ่ายตั๋วเงินในระยะสั้น ๆ ข้อดีก็คือมีโอกาสได้เงินคืนสูงในอนาคต

“ส่วนหนี้หุ้นกู้ ที่จะครบกำหนดปีนี้ การขอเลื่อนออกไป ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการปรับโครงสร้างเหมือนบริษัทอื่น ๆ ในการพยายามทำทุกวิถีทางไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ (Default) อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า SCB และ EA ที่มีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะปรับโครงสร้างให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไป โดยนำสินทรัพย์ทุกอย่างมากองและแก้ปัญหาหนี้หุ้นกู้ไปทีละเปลาะ เห็นร่องรอยของความพยายาม อย่างหุ้นกู้รุ่น EA248A ก็มีการเพิ่มหลักประกัน”

สำหรับหลักประกันที่เพิ่ม ได้แก่ 1.การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบริษัทย่อยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรวม 5 สัญญา สิทธิในบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ให้หลักประกันแต่ละราย ซึ่งรับเงินค่าไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรโรงไฟฟ้า (กังหันลม) ของผู้ให้หลักประกันแต่ละรายให้แก่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

2.การจำนองอาคารสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทย่อยของ EA ทั้ง 5 แห่งให้แก่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

“เหล่านี้เห็นถึงความพยายามของ EA เพราะถ้ารอดจะ Win-Win เพราะแบงก์เจ้าหนี้ทุกรายก็จะรอด รวมถึงลูกหนี้รายย่อยด้วย เพราะบริษัทไม่ได้กลวง มีสินทรัพย์อยู่ประมาณหนึ่ง ส่วนแผนหาผู้ร่วมทุน อาจจะยังเป็นไปได้ยากหน่อย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวจากธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่อีกแห่งกล่าวว่า ตอนนี้แบงก์เจ้าหนี้พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกันอยู่ โดยล่าสุดได้มีการนำหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้นเข้ามารวมกับหนี้เงินกู้ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากแบงก์ปล่อยสินเชื่อในลักษณะโครงการ มีหลักประกัน ประกอบกับ EA ยังมีโรงไฟฟ้า ซึ่งมีรายได้ประจำจากการขายไฟอยู่ น่าจะสามารถชำระหนี้ได้

“แบงก์เจ้าหนี้พยายามแก้กันอยู่ Restructuring กันไป เพราะเราปล่อยเป็นโปรเจ็กต์ มีหลักประกัน แก้ไม่ยาก แล้วบริษัทก็ยังมีรายได้จากโรงไฟฟ้า จะคล้ายกับกรณีการบินไทยที่ยังมีทรัพย์สิน ก็ขายชำระหนี้กันไป”