ลงทุนเมกะเทรนด์ให้ปลอดภัย พอร์ตเติบโตได้ระยะยาว

บทความโดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

ช่วงนี้หลายๆ คนก็เริ่มหมดใจไปกับหุ้นไทยกันมากขึ้นไปอีกเพราะสารพัดข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่รุมเร้าเข้ามากระทบปัญหาฝังรากลึกทั้งเศรษฐกิจและการเมืองจนไม่รู้ว่าอนาคตประเทศไทยจะไปทิศทางไหนปกติถ้าเศรษฐกิจไม่มีศักยภาพในการเติบโต โอกาสที่ภาคธุรกิจจะเติบโตก็เป็นเรื่องยากมากๆ จึงไม่แปลกที่นักลงทุนไทย-เทศหนีหายไปกัน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างคอยฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP อยู่ในอัตราที่ต่ำลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GDP ไทยโตไหลลงมาเรื่อยๆ จาก 4% มา 3% ช่วงหลังๆ ก็เป็น 2% กว่า

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ก็ออกมาบอกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำ 3% เพราะติดหล่มเศรษฐกิจเก่า (Old Economy) อุตสาหกรรมเดิมๆ ผลิตสินค้าที่อยู่ในโลกเก่า Supply Chain ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นส่วนยานยนต์และอื่นๆ และยังมีอีกอุตสาหกรรมที่เป็น sunset ทำให้ภาพรวมผลประกอบการของภาคธุรกิจเติบโตต่ำตามไปด้วย

ท่ามกลางโลกที่เดินหน้าสู่ New Economy ชูเทคโนโลยีนำประเทศกันแล้ว ยกระดับการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกยุคใหม่ สวนทางกับประเทศไทยที่ยังปรับตัวไม่เท่าทันกระแสโลกใหม่

ผมเชื่อว่า หลายคนยังสงสัยอะไรคือ Old Economy กับ New Economy และอุตสาหกรรมใหม่ๆที่เป็นอนาคตของโลกหรือที่เรียกกันว่า ‘เมกะเทรนด์’ คืออะไร เราจะมองหาโอกาสลงทุนอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้อย่างไร

New Economy หมุนโลกธุรกิจเมกะเทรนด์

จุดตัดแบ่งความเป็น Old Economy กับ New Economy จะอยู่ในช่วงปี 2543 ที่กระแสอินเทอร์เน็ตกำลังมาแรง ซึ่งธุรกิจที่อยู่มาจนถึงปัจจุบัน ก็สร้างมูลค่าไว้มากมาย ทำให้คนเชื่อมต่อหากันได้ง่ายและรวดเร็ว การสร้างสินค้าและบริการการทำการตลาดรูปแบบใหม่ๆ บนช่องทางออนไลน์ที่สื่อสารกระจายออกไปถึงกลุ่มต่างๆ เป็น ‘ไวรัล’ ที่กระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

Advertisment

ผมขอยกตัวอย่าง Old Economy ในช่วงปี 2551 หรือ 16 ปีก่อน ถ้าดู Top 10 ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความเป็น Old Economy ค่อนข้างเยอะ เช่น Chevron, Goldman Sachs, Coca Cola เป็นธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ที่เติบโตมาได้ด้วย Capital Intensive หรือ Level Intensive เน้นใช้คนกับเงินทุ่มเข้าไป การเติบโตของธุรกิจจะใช้เวลานานเป็น 50 ปี – 100 ปีทีเดียวครับ ทุกวันนี้คุณจะเห็นบริษัทใหญ่เหล่านี้ยังคงชูจุดแข็งความเป็นสถาบันเก่าแก่กันอยู่ครับ อย่างไรก็ตามบริษัทใหญ่เหล่านี้ก็มีการปรับตัวเข้าโลกใหม่เหมือนกัน

แต่เมื่อมาถึงยุคเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy ก็ทำให้เกิดธุรกิจยุคใหม่ขึ้นมา พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงตามรุ่นหรือ Generation เด็กยุคใหม่เติบโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ต หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟนในช่วงปี 2551เพราะฉะนั้นแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลสินค้าและบริการใหม่ๆเชื่อมต่อผู้คนได้เป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ภาพอดีต เจ้าตลาดที่เป็นบริษัทใหญ่มักจะเป็นฝ่ายชนะ แต่พอมายุคใหม่ ใครมีนวัตกรรมที่ดีๆก็สามารถเอาชนะได้

Advertisment

ทุกวันนี้ จะเห็นหลายอุตสาหกรรม มีผู้เล่นหน้าใหม่สามารถเอาชนะผู้เล่นที่อยู่มาก่อนได้หมด ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน อย่าง Apple ที่ชิงตลาดสมาร์ทโฟน หรือ Google ที่แย่งเม็ดเงินโฆษณาจากสื่อ Offline Media ต่างๆ มาไว้เอง หรือแม้กระทั่ง Booking.com ก็ไปรวบ OTA Travel Agency มาอยู่ที่ Online Travel Agency หมดเลย

ความต้องการของคนยุคใหม่ หรือธุรกิจในยุคใหม่ ถูกย้ายไปสู่สิ่งที่เป็น New Economy หมดแล้ว ผมขอยกตัวอย่างธุรกิจโลกใหม่ชื่อดัง อย่าง NVIDIA ที่คิดค้นนวัตกรรมชิปเพื่อเอามาเสริมกับเทคโนโลยี AI ราคาหุ้นช่วงที่ผ่านปรับขึ้นไปเยอะมาก แต่ว่าตัวรายได้กำไรบริษัทนี้ยังโต 100-200% อยู่เช่นกัน สิ่งที่ผมต้องการสื่อ คือ ตราบใดที่ผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ ยังสามารถรักษาการเติบโตที่ดีได้ในระยะยาว จะสะท้อนกลับไปที่ราคาหุ้นให้ปรับขึ้นไปต่อได้ยาวๆ ครับ

เทรนด์ธุรกิจที่เติบโตหมุนวงล้อตามไปกับวัฏจักร New Economy จะถูกเรียกกันว่าธุรกิจเมกะเทรนด์นั่นเองครับ ‘เมกะเทรนด์’ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางธุรกิจ ที่จะกระทบกับตลาดในปัจจุบัน เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่หรือ New Economy ซึ่งจะมีผลกระทบกับชีวิตของคนหมู่มาก และเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว เมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นยังมาแก้ปัญหาหรือสามารถตอบสนองความต้องการเดิมๆ ของมนุษย์ได้อยู่เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น เช่นมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาในการผลิตสินค้าและบริการตอบโจทย์การใช้งานและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกว่าตัวเก่าๆ

หลายปีที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกพาเหรดลงทุนเมกะเทรนด์กันเยอะมากกองทุนที่ลงทุนเมกะเทรนด์หรือพวก Thematic มีมากมายจนเลือกลงทุนไม่ถูกก่อนจะลงทุนสิ่งแรกสุดที่ควรพิจารณา คือ ควรเป็นอุตสาหกรรมที่มี Basic Needs (ความต้องการขั้นพื้นฐาน) ยังเหมือนเดิม คือคนยังต้องกินต้องใช้เหมือนเดิมเพียงแต่รูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไป ​

จับตา 4 เมกะเทรนด์มาแรงในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ส่วนตัวผมจะมองเมกะเทรนด์หลักๆ ที่มีแนวโน้มเติบโตระยะยาวอยู่ 3-4 เมกะเทรนด์ครับอันดับแรกเป็นอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็คือ เทคโนโลยีที่สามารถทำให้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือต่างๆ จำลองการคิดและแก้ไขปัญหาเหมือนมนุษย์ได้ ขอยกตัวอย่างเช่น Jitta Wealth ที่ใช้ AI มาบริหารจัดการการลงทุน ทั้งที่จริงๆ มนุษย์ก็ทำได้ แต่ถ้าให้ AI ที่ไม่มีเรื่องของอารมณ์หรือความเหนื่อยล้าเหมือนมนุษย์ สามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นคงตามหลักการที่ตั้งไว้ จึงบริหารได้ดีกว่ามนุษย์ ​และที่สำคัญ AI มีต้นทุนที่ต่ำกว่าด้วยครับ

ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีการใช้ AI เข้ามาช่วยเทรดหุ้นในสัดส่วนมากขึ้น 70% ของวอลุ่มตลาดรวม แม้แต่ ในอุตสาหกรรมการผลิต ภาคธุรกิจต่างๆ ก็นำ AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาการผลิตสินค้าให้สั้นลง ส่งมอบได้เร็วมากขึ้นถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

ทุกวันนี้ หลายธุรกิจเริ่มใช้ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มปริมาณการผลิตเป็นต้น เช่นการใช้ AI ในการทำงานแทนคน เช่น Chat GPT หรือ Gemini เป็นต้น ในอนาคต เรายังไม่รู้ว่า AI จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอะไรอีกบ้าง เพราะโลกของเราไม่เคยมาถึงจุดนี้มาก่อน ตอนนี้ รู้แค่ว่า AI จะทำอะไรแทนเราได้มากขึ้น คนก็จะทำอะไรได้มากขึ้นและจะพัฒนามากขึ้นด้วยเพราะฉะนั้น กระแสเทรนด์ AI จึงมีโอกาสที่จะไปต่อได้อีกไกลครับ

เมกะเทรนด์ต่อมา คือ พลังงานสะอาด (Clean Energy) ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีสะอาด (Clean Tech) เป็นที่รู้กันว่าคนเราต้องการพลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก หรือแม้กระทั่ง AI เองก็ใช้พลังงานการใช้พลังงานยุคเก่าอย่างฟอสซิล น้ำมัน แก๊สฯ จะเริ่มหมดไป รวมไปถึงมลพิษต่างๆก็จะลดลงไปด้วย

‘พลังงานสะอาด’ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นที่นิยมมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดอีกอย่าง คือ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่คนทั่วโลกเริ่มหันมาใช้กันเป็นจำนวนมาก สัดส่วนของพลังงานสะอาดเติบโตเป็น 30% จากเดิม 19% ในช่วงปี 2543 ซึ่งเวลาที่ธีมเมกะเทรนด์ต่างๆ จะเริ่มเข้าสู่ช่วงที่คนเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย ราคาจะถูกลงถูกกว่าอุตสาหกรรมดั้งเดิม

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมกะเทรนด์นี้เติบโตขึ้นมาได้ ก็คือ การตระหนักรู้ถึง Global Warming ด้วย เพื่อที่โลกของเราจะได้อยู่ไปนานๆ ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานจึงทำให้ธีมเมกะเทรนด์นี้ยังเติบโตไปได้อีกยาวไกลครับ

เมกะเทรนด์อันดับสาม คือ คลาวด์ (Cloud) เป็นธุรกิจให้บริการเก็บข้อมูล เซิร์ฟเวอร์ซอฟต์แวร์ต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างระบบแบบดั้งเดิม

คุณทราบไหมครับว่า เบื้องหลังแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่เราใช้กันจำนวนมาก คือ คลาวด์ทั้งหมดเกือบทุกอย่างที่เราใช้กันอยู่ถูกเก็บไว้บนคลาวด์โดยที่คุณอาจจะไม่รู้ตัวแล้วถ้าคนจำนวนมากบนโลก เข้าถึงโลกยุคดิจิทัลมากขึ้น สุดท้ายกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากๆ ก็คือคลาวด์

เมกะเทรนด์สุดท้ายคือ จีโนมิกซ์ (Genomics) ทุกวันนี้กระแสสุขภาพเป็นเทรนด์ที่อยู่กับเรามายาวนานตลอดอยู่แล้ว เพราะใครๆ ก็อยากอายุยืน แต่วิทยาการทางการแพทย์ในอดีตยังไม่สามารถผลิตตัวอย่างเจาะเฉพาะรายคนไข้ได้ แต่ทว่า ‘จีโนมิกซ์’ จะมีความสามารถที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้

จีโนมิกซ์ คือ การศึกษาเกี่ยวกับ DNA ของมนุษย์เพื่อช่วยให้เข้าใจโรคต่างๆ และสร้างยารักษาที่ตรงตามความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคนได้ เพราะเราทุกคนเกิดมามี DNA ที่แตกต่างกัน เช่นการตรวจ DNA เพื่อดูความเสี่ยงการเกิดโรคและป้องกันได้อย่างถูกวิธีเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นจากคนอยากที่จะวิเคราะห์ DNA ของเรา เมื่อก่อนจะมีราคาแพงมาก แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าและการประมวลผลที่ดี ก็ทำให้ราคาถูกลงคนเข้าถึงการใช้บริการกันมากขึ้น จะเห็นโรงพยาบาลต่างๆ

ที่พูดถึงการนำนวัติกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ มาในการรักษาตรงจุดเฉพาะโรคแม้แต่โรงพยาบาลในไทยยังมีให้บริการกันมากขึ้นและแน่นอนว่า การพัฒนานวัตกรรมทางการการแพทย์ไม่ได้หยุดยั้งแค่นี้ครับ เพราะมนุษย์ทุกคนรักสุขภาพอยากมีอายุยืนยาวอยู่ดูลูกหลานเติบโตด้วยความภาคภูมิใจเมื่อความต้องการด้านสุขภาพไม่มีที่สิ้นสุด จึงเป็นเมกะเทรนด์ใหญ่ที่มีศักยภาพเติบโตยาวไกลตราบช่วงชีวิตมนุษย์ครับ

ถ้ามีเงินก้อนนึง จะลงทุนเมกะเทรนด์ไหนปังๆ เติบโตยาว 3-5 ปี

เราจะใช้ประโยชน์จากการเติบโตของเมกะเทรนด์เหล่านี้ในการลงทุนได้อย่างไรบ้าง ถ้าคุณสามารถรู้ได้ว่าธุรกิจอะไรคือธุรกิจแห่งอนาคต แล้วคุณเอาเงินไปลงทุนไว้ ก็จะสามารถสร้างกำไรสวยๆ ได้ เพราะเมกะเทรนด์จะมีอายุประมาณ 20 ปี ถ้าเทรนด์ที่ยาวๆ จะอยู่ไปกว่า 50 ปี ดังนั้น ผมจะแนะนำให้ลูกค้าเลือกลงทุนเมกะเทรนด์ผ่านกองทุน ETF (Exchange Traded Fund) มากกว่าหุ้นรายตัวครับ

ผมขออธิบายถึง ETF ก่อนครับ ETF เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมากำหนดนโยบายลงทุนชัดเจน เช่น ETF ที่มีนโยบายลงทุนหุ้นตามดัชนี Nasdaq ผลตอบแทนก็จะอ้างอิงไปกับดัชนี Nasdaq หรือ ETF ที่เน้นลงทุนหุ้นที่อยู่ในเมกะเทรนด์ หรือที่เรียกกันว่า Thematic ผลตอบแทนจะอิงกับดัชนีหลักของกลุ่มหุ้น หรือออกมาใกล้เคียงกับดัชนีฯ เวลาดัชนีบวกก็จะบวกตามไปด้วย เวลาลงก็ลดลงตามไปด้วยครับ ซึ่งปัจจุบันในตลาดทั่วโลกมี ETF หลายรูปแบบจำนวนมากให้เลือกลงทุนครับ และ ETF จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นซึ่งราคาหุ้นก็จะสะท้อนเกาะตามตลาด

ส่วนตัวผมที่แนะนำลงทุนเมกะเทรนด์ผ่าน ETF เพราะเห็นว่ามีความปลอดภัยกว่าหุ้นรายตัวอย่าลืมว่าทุกการลงทุนเมื่อมีผลตอบแทนก็มีความเสี่ยงเสมอ ในจุดเสี่ยงของ Thematic ยังมีอยู่คือ ความผันผวน เพราะต่อให้คุณลงทุนในช่วง Early Majority ก็ตามจะเห็นว่าจากภาพมันคือ Adoption Curve หมายความว่า มีผู้ใช้งานเรื่อยๆ มูลค่าทางเศรษฐกิจมันโตขึ้น แต่ราคาหุ้นบางทีอาจจะขึ้นและลงแรงมาก ดังนั้นการลงทุนจะต้องใช้ระยะเวลาหลายปี

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น ปกติ ETF จะไปซื้อหุ้นจำนวนมากเหมือนกองทุนเลย สมมติว่าเราอยากลงทุนรถ EV ซึ่งมีผู้ประกอบการ EV ราว 100 ราย แต่เวลาผ่านไป 3 ปี เหลือผู้ประกอบการไม่ถึง 10 บริษัท ดังนั้นถึงแม้รู้ว่าเมกะเทรนด์ธีม EV กำลังมาแต่ถ้าเราไปเลือกหุ้นผิดตัวก็คงไม่ดีจริงไหมครับ หรืออย่าง เซมิคอนดักเตอร์เองจะมีหุ้นบางตัวที่ล่อแล่ บางตัวที่ยังเติบโตได้

ผมต้องการบอกว่าบริษัทที่อยู่ในเมกะเทรนด์เหล่านี้ก็ไม่ได้เติบโตดีทุกบริษัทเพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ได้เป็นนักวิเคราะห์ หรือมีเวลาที่จะดูหุ้นตลอดเวลาหากจะให้ปลอดภัยที่สุด คุณควรลงทุน ETF ที่มีนโยบายเมกะเทรนด์ดีกว่าเพราะว่าเวลาอุตสาหกรรมยังเติบโต แม้มีหุ้นบางบริษัทที่อาจจะเจ๊ง แต่บริษัทที่อยู่รอดเติบโตได้ก็จะได้มาร์เกตแชร์เพิ่มจากบริษัทที่ไปไม่รอด ถ้าคุณซื้อหุ้นทุกตัวแบบนี้ ก็จะไม่มีปัญหาตราบใดที่เงินยังวิ่งเข้ามาที่เทรนด์นี้ไปเรื่อยๆ แต่ในตลาด หุ้นไม่ได้ดีทุกตัว ดังนั้น ETF จะลงทุนกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าหุ้นรายตัว

ถ้าคุณลงทุนเมกะเทรนด์ที่ใช่ ย่อมมีโอกาสสร้างผลตอบแทนให้คุณได้ 15-20% ต่อปีได้ คล้ายๆกับการที่คุณลงทุนในดัชนี Nasdaq ตั้งแต่หลังปี 2000 สุดท้ายก็โตได้ถึง 15% ต่อปี เป็นเวลา 20 ปี ผลตอบแทนคุณจะทบต้นเลยครับ เพียงแต่ในระหว่างทางอาจจะแกว่งขึ้นลงเยอะมากแต่ขณะเดียวกัน ถ้าเลือกลงทุนเมกะเทรนด์บางอันไม่เป็น คุณก็อาจจะขาดทุนได้

การคัดเลือก ETF ของ Thematic ที่ Jitta Wealth นำเสนอให้ลูกค้าลงทุนจะผ่านการวิเคราะห์เชิงลึกของ AI แล้วว่า เป็นเมกะเทรนด์ที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ระยะยาว เป็นตัวที่มีการเติบโตของรายได้ที่สูง ส่วนการเลือก ETF ในตลาดที่มีหลายพันตัวเราก็จะต้องดูมูลค่า AUM สูงสุดของเมกะเทรนด์นั้นๆ แล้วมาเรียงลำดับ เพราะยิ่ง AUM สูง ยิ่งมีความน่าเชื่อถือ อาจจะเปิดมานานแล้ว และมีผลตอบแทนดี รวมถึงมีคนลงทุนมากมีการบริหารจัดการพอร์ตอย่างมีประสิทธิภาพ

ต่อมาคือค่าใช้จ่ายที่จัดการ ETF ต้องต่ำ เพราะ ETF ก็เหมือนกองทุน จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อขาย ยิ่งต่ำผลตอบแทนก็จะยิ่งสูงขึ้น สุดท้ายสภาพคล่องของ ETF สูง ทำให้สามารถซื้อขายได้คล่องเพราะถ้าสภาพคล่องต่ำมาก ทำให้ซื้อขายไม่ได้

เพราะผมมองว่าการลงทุนเมกะเทรนด์จำเป็นต้องลงทุนระยะยาว ถ้าเรามีเงินอยู่ 1 ก้อนสิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน ก็คือเงินก้อนนี้ควรไปอยู่ในสิ่งที่สร้างกระแสเงินสด ทำให้เงินก้อนนี้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต

ผลตอบแทนของ Thematic ที่ผมบริหารทั้งหมด 27 ธีมในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จาก 4 เมกะเทรนด์หลักๆ ครับ นำโดย เซมิคอนดักเตอร์ ผลตอบแทน 1 ปี +57.51% เทคโนโลยี +27.04% เมตาเวิร์ส +21.37% ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ +20.40% จีโนมิกส์ ผลตอบแทนช่วง 1 ปี +6.47% บริการสุขภาพ +11.67% เป็นต้น

ปั้นเงินล้านด้วยสูตรพอร์ต Core & Satellite

เมื่อเลือกธีมเมกะเทรนด์ลงทุนได้แล้วอีกปัจจัยสำคัญที่จะเป็นแรงส่งให้การลงทุนของคุณประสบความสำเร็จ คือ การจัดพอร์ตลงทุนประโยคทองที่นักลงทุนทั่วโลกยึดถือปฏิบัติกันมายาวนาน นั่นก็คือ ‘อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าเดียวกัน’ และเป็นสิ่งที่ผมย้ำกับลูกค้าเสมอ ‘การลงทุนต้องกระจายความเสี่ยง’ หนึ่งในตัวช่วยที่ดีที่สุด ‘การจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite’

มาดูกันว่าจัดอย่างไร โดย Core คือ พอร์ตหลัก พอร์ตที่เน้นสร้างผลตอบแทนระยะยาว แบบค่อยเป็นค่อยได้ สบายใจไม่หวือหวา ส่วน Satellite คือพอร์ตรอง เป็นพอร์ตที่เน้นคว้าโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในวิธีที่เสี่ยงมากขึ้น

ปกติ สัดส่วนมาตรฐานการจัดพอร์ต Core & Satellite ที่ใช้กันทั่วโลก จะอยู่ที่สัดส่วนของ Core 80% ของพอร์ตรวม และพอร์ต Satellite อีก 20%ของพอร์ตรวม แต่ถ้าคุณบอกว่ารับความเสี่ยงได้สูงก็อาจจะเพิ่มสัดส่วนใน Satellite ได้มากขึ้นแต่จากที่ผมบริหารจัดการพอร์ตลงทุนมาให้คนจำนวนหนึ่งก็พบว่า ตอนที่เริ่มต้นลงทุน คุณรู้สึกว่าตัวเองสามารถรับความเสี่ยงได้สูง มากกว่าความเป็นจริง แต่พอเป็นเงินลงทุนจริง คุณอาจจะรับไม่ได้ขนาดนั้น เพราะมนุษย์ก็มีเรื่องของอารมณ์มาเกี่ยวข้องอยู่แล้วบางทีช่วงที่พอร์ตผันผวนมากๆ ก็ใจไม่ดีที่เห็นเงินหายไป

คำเตือนของผม!! ใครที่เพิ่งเริ่มลงทุนใหม่ๆ ก็อย่างเพิ่งไปมองเรื่องผลตอบแทนที่สูงก่อนเริ่มที่ถามตัวคุณให้ดีก่อนว่า รับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน แล้วค่อยๆ เพิ่มความผันผวนที่รับได้เพราะฉะนั้น การจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite ในสัดส่วนที่ถูกต้องกับความเสี่ยงที่รับได้ก็จะช่วยให้คุณลงทุนได้อย่างสบายใจขึ้น

 

ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ สนใจอยากเริ่มลงทุน มือใหม่ที่กำลังตัดสินใจอยู่อาจจะได้คำตอบแล้วก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้เลยเพราะยิ่งคุณลงทุนเร็วเท่าไหร่ ระยะเวลาให้เงินทำงานก็ยิ่งนานขึ้นเท่านั้น สิ่งที่ตามมา ‘ผลตอบแทน’ จะทบต้นอย่างน่ามหัศจรรย์ เงินก้อนเล็กก็จะกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ให้ใจฟูขอให้คุณยึดมั่นหลักการลงทุนให้แข็งแกร่งและมีความสุขกับการลงทุนระยะยาวและได้กำไรตามเป้าหมายครับ