บาทแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือน คาดเฟดลดดอกเบี้ยเดือนกันยายน

ธนบัตร ค่าเงินบาท
MANAN VATSYAYANA / AFP

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 30 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันอังคาร (30/7) ที่ระดับ 35.99/36.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 36.07/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทได้รับแรงหนุนจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังในวันศุกร์ที่ผ่านมา (26/7) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE)

ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.5% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 2.6% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ดันี PCE ทั่วไปปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.1% ในเดือน มิ.ย. หลังจากปรับตัวขึ้น 0.0% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือน พ.ค. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และในเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 2.6% เมื่อเทียบรายเดืนอ ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้นสอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.2% ในเดือน มิ.ย. จากระดับ 0.1% ในเดือน พ.ค. ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาสอดคล้องกับการคาดการณ์

ทั้งนี้ดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อ หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ มีมติเป็นเอกฉันให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ พร้อมกับระบุในแถลงการณ์ว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เงินเฟ้อมีความคืบหน้าในการปรับตัวสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% รวมทั้งนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้กล่าวหลังการประชุมว่า

หากข้อมูลที่ได้รับมายังคงทำให้เฟดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังอยู่ในทิศทางชะลอตัวลง เฟดก็พร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในการประชุมครั้งหน้า คือในเดือน ก.ย. สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐในวันพุธ (31/7) สำนักงาน ADP เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 122,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 155,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. ตัวเลขค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพียง 4.8% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป้นการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564 และลดลง 0.1% เมื่อเทียบรายเดือน

นอกจากนี้ในวันพฤหัสบดี (1/8) สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรับ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 46.8 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 จากระดับ 48.5 ในเดือน มิ.ย. และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าดัชนีจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.8 และกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก เพิ่มขึ้น 14,000 ราย สู่ระดับ 249,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2566 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 236,000 ราย

ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน ก.ค. ของสหรัฐในวันนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 177,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. จากระดับ 206,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.1%

Advertisment

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนที่ระดับ 35.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ รับผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของญี่ปุ่นและสหรัฐ รวมถึงยังได้รับอานิสงส์จากการขายดอลลาร์ของผู้ส่งออกทองคำ หลังราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 2,468.60 ดอลลาร์/ออนซ์

โดยได้ปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังมีรายงานว่าผู้นำกลุ่มฮามาสได้ถูกกองกำลังทหารอิสราเอลสังหารในประเทศอิหร่าน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้ความตึงเครียดในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ในวันพุธ (31/7) ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนมิถุนายน 2567 โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมในไตรมาส 2 ยังอยู่ในทิศทางขยายตัวจากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนชะลอลงจากจำวนและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อนหน้า ด้านการบริโภคภาคเอกชนทรงตัว โดยการใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนที่ขยายตัวถูกทอนลงด้วยหมวดสินค้าคงทนที่หดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์

Advertisment

อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำลดลงหดตัวร้อยละ 0.7 จากสินค้าเกษตรที่อยู่ในช่วงปลายฤดูกาล และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สินค้าคงคลังยังสูง สอดคล้องกับผลผลิตสินค้าเกษตรและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง แต่เมื่อรวมทองคำ การส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.3 ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ 0.1 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์ แต่ดุลบริการ รายได้และเงินโอนที่ขาดดุลยังคงขาดดุล 0.5 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.95-36.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ 26/7) ที่ระดับ 36.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันอังคาร (30.07) ที่ระดับ 1.0820/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 1.0856/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในช่วงต้นสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากรอความชัดเจนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก ๆ ได้แก่ FED ECB และ BOJ ถึงแม้ว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจจากสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยข้อมูลประมาณการเบื้องต้นในวันอังคาร (30/7) ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนในไตรมาสที่ 2/2567 ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

หลังจากที่ขยายตัว 0.3% ในไตรมาสแรก ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า GDP ยูโรโซนไตรมาสนี้จะขยายตัว 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี GDP ยูโรโซนในไตรมาสที่ 2/67 ขยายตัว 0.6% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.5% และสูงกว่าอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกที่ผ่านการปรับค่าแล้วที่ 0.5%

อย่างไรก็ตามภาพรวมเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงฟื้นตัวได้ยากในการค้าโลก แต่ยังคงมีการฟื้นตัวภายในประเทศ แต่หลังจาก คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 5.00% ขณะที่กรรมการ MPC จำนวน 4 รายลงมติให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 5.25% ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ในเดือน ก.ย. ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 เดือน ที่ 1.0777 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0775-1.0849 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/8) ที่ระดับ 1.0810/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันอังคาร (30/07) ที่ระดับ 154.06/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (26/7) ที่ระดับ 154.22/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินเยนแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนที่ระดับ 151.95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากการที่นักลงทุนเข้าซื้อเยนเพื่อชดเชยการทำชอร์ตเซล และระบายการทำ carry trade

โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนได้กลับมาเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าแตะระดับ 155.25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางการรอผลการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันพุธ (31/7) ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับ 0.1% จากปัจจุบันที่ระดับ 0%-0.1% และจะปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น หลังจากที่ BOJ ระบุในเดือน มิ.ย.ว่าจะปรับลดจำนวนการซื้อพันธบัตร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าตลาดการเงินจะสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น หลังจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของญี่ปุ่นอยู่เหนือเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% มาเป็นเวลานานกว่า 2 ปี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) ของญี่ปุ่นในเดือน มิ.ย.อยู่ที่ระดับ 2.8% ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับในเดือน พ.ค. ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 2.6% ในเดืนอ มิ.ย. จากระดับ 2.5% ในเดือน พ.ค.

นอกจากนี้ กระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันอังคาร (30/7) ว่าอัตราการว่างงานลดลงเล็กน้อยเหลือ 2.5% ในเดือน มิ.ย. ต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 2.6% ในวันพุธ (31/7) จากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นสู่ระดับ 0.25% จากระดับเดิมที่ 0-0.01% รวมถึงเปิดเผยแผนการคุมเข้มเชิงปริมาณ (Quantitative Tightening) ปรับลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลงสู่ระดับ 3 ล้านล้านเยน ภายในสิ้นปี 2569 จากระดับ 6 ล้านล้านเยน อีกทั้งนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวหลังการประชุมว่า แม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การดำเนินการของธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก และหากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสอดคล้องกับการคาดการณ์ล่าสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในอนาคต และจะปรับลดระดับการผ่อนคลายทางการเงินต่อไป โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังคงเคลื่อนตัวอยู่ที่ระดับราว 2% ต่อไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2026 ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่า สู่ระดับ 148.52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.48-155.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (2/8) ที่ระดับ 148.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ