“วิทัย” กลับบ้าน กบข. ชูบริหารงานสมาชิก ในวันที่หุ้นไม่เร้าใจ

สัมภาษณ์พิเศษ

หลังออกไปรับภารกิจตัวช่วยขับเคลื่อนองค์กรหลายแห่ง ปัจจุบัน นับตั้งแต่ 17 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา “วิทัย รัตนากร” ได้กลับมา “บ้านหลังเดิม” ในตำแหน่งเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่เขาเคยรับบทบาท “ฟันด์แมเนเจอร์” อยู่ 7-8 ปี โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสสัมภาษณ์พิเศษมานำเสนอ

เน้นบริหารงานสมาชิก

“วิทัย” เริ่มต้นฉายภาพถึงวัตถุประสงค์การจัดตั้ง กบข.ว่า มี 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.จ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (การลงทุนให้เกิดผลตอบแทนที่ดี) 2.ให้ความรู้ ส่งเสริมการออม และ 3.จัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก โดยที่ผ่านมาอาจจะโฟกัสที่การลงทุนเป็นสำคัญ แต่ในยุคของตนจะหันมาเน้นการ “บริหารงานสมาชิก” ตามวิสัยทัศน์ที่แสดงต่อบอร์ดในการสมัครคัดเลือกเข้ามานั่งตำแหน่งนี้

โดยเขามองว่า ในระยะยาว หากจะทำให้ กบข.แข็งแรงได้ ต้องทำให้สมาชิกรัก กบข. และสมาชิกรู้สึกได้ว่าการเป็นสมาชิก กบข.มีความแตกต่าง จากสิทธิประโยชน์ที่จะนำไปสู่ความผูกพันกับ กบข.ในระยะยาว และที่สำคัญ สมาชิกต้องภาคภูมิใจที่เป็นสมาชิก กบข.

“80% จะทุ่มไปที่งานสมาชิก โดยที่ผ่านมา กบข.ก็ทำกันมาได้ดี เพียงแต่ผมจะโฟกัสมากขึ้น”

อัพเกรดบริการดิจิทัล

สำหรับแผนบริหารงานสมาชิกหลังจากนี้ “วิทัย” บอกว่า จะมุ่งเน้น “สมาชิกเป็นศูนย์กลาง” (member centric) โดยมุ่งสู่การเป็น “digital pension” ในการให้บริการ ภายใต้นโยบาย “digital government” และ “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาล เนื่องจากการให้บริการบนมือถือ (service on mobile) จำเป็นมากขึ้น

“ถ้าไม่ทำตอนนี้ อีก 3 ปีก็ต้องทำ ทั้งการให้บริการสมาชิก และการบริหารงานองค์กรทั้งหมด ต้องทำบนดิจิทัลหมด โดยสมาชิก กบข.จะสามารถรับบริการบนมือถือได้ตั้งแต่วันสมัครสมาชิกวันแรก จนถึงวันเกษียณอายุราชการวันสุดท้าย (end to end service) ซึ่งปัจจุบัน กบข.มีสมาชิก 1 ล้านคน แต่ละปีจะมีสมาชิกใหม่ราว 6 หมื่นคน ออกประมาณ 2.5-3 หมื่นคน ก็ขึ้นกับว่าใครอยู่ขั้นตอนไหนก็สมัครรับบริการบนมือถือได้ แล้วไม่ต้องกังวลเรื่องบัตรหายด้วย”

ทั้งนี้ “วิทัย” ยืนยันว่า การลงทุนระบบไอทีในยุคของเขานี้ จะประหยัดที่สุด “ใช้เงินน้อยที่สุด” ในรอบ 3 ปี

สำหรับสิ่งที่ทำต่อมา คือ การสื่อสารกับสมาชิก กบข.ที่จะดำเนินการผ่านดิจิทัลทั้งหมดเช่นกัน แต่ก็จะยังเปิดช่องทางอื่นไว้สำหรับสมาชิกที่ยังนิยมใช้ระบบ off-line ด้วย และปัจจุบัน กบข.จะส่งข่าวสารสมาชิกในลักษณะ “ข้อมูลชุดเดียว” ซึ่งหลังจากนี้จะมีการแบ่งเซ็กเมนต์ โดยใช้ data analytics เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสมาชิกทั้งหมด แล้วนำมาใช้ส่งเสริมการออมได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น แบ่งตามฐานเงินเดือน แบ่งตามฐานอาชีพ 14 อาชีพ แบ่งตามพฤติกรรม แบ่งตามหลักประชากรศาสตร์ (demography) หรือแม้แต่แบ่งตามหลักภูมิศาสตร์ (geography) เป็นต้น

“สมาชิก กบข. 1 ล้านคน ถ้าเราสามารถมีข้อมูลที่สมบูรณ์ แบ่งเซ็กเมนต์ได้ การส่งข้อมูลไปแต่ละเซ็กเมนต์ก็จะชัดเจน ตลอดจนการจัดสวัสดิการตามเซ็กเมนต์ และจะพัฒนาไปสู่การดูแลเป็นรายบุคคลในอนาคต โดยเป้าหมายสุดท้ายทั้งหมดคือ ให้สมาชิกมีเงินออมยามเกษียณอย่างพอเพียง”

พร้อมกันนี้ กบข.ยังต้องพัฒนาช่องทางการสื่อสาร (channel) โดยใช้ “โซเชียลมีเดีย” มากขึ้น ควบคู่ไปกับช่องทางสื่อสารเดิม คือ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วารสาร การจัดสัมมนา ฯลฯ

ขณะที่การนำเสนอข่าวสารสู่สมาชิกก็จะทำให้ย่อยง่ายขึ้น เช่น โมชั่นกราฟิก (การ์ตูน) เป็นต้น

จัดสิทธิประโยชน์ที่แตกต่าง

“วิทัย” บอกอีกว่า ในส่วน “สวัสดิการสมาชิก” จะปรับปรุงใหม่ โดยตนจะลงไปติดต่อกับพันธมิตรเพื่อจัดสวัสดิการแก่สมาชิกด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้เห็นชัดเจนว่า สมาชิก กบข.แตกต่างจากข้าราชการที่ไม่ได้เป็นสมาชิก รวมถึงคนทั่วไป ด้วยสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะสร้างความแตกต่าง ซึ่งจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญภายใน 1 ปี

“ผมจะผลักดันให้ กบข.เป็นผู้นำด้านการส่งเสริมการออมหลังเกษียณ ดังนั้นการจัดสวัสดิการ ก็จะเป็นการให้สมาชิกได้เตรียมตัวรับการเกษียณ ซึ่งที่คิดไว้ก็จะมี เช่น ประกันแบบบำนาญ สินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุ (รีเวิร์สมอร์ตเกจ) เป็นต้น โดยจะเจรจากับพันธมิตรเพื่อให้ได้เงื่อนไขที่ดีที่สุด แบบที่ในท้องตลาดไม่มี”

ปรับกลยุทธ์ลงทุนหุ้น

ด้านแผนการลงทุน “วิทัย” บอกว่า ในปี 2561 นี้ ตลาดหุ้นอาจจะไม่ได้ดีเหมือนกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่หุ้นขึ้นตลอด โดยปี 2560 หุ้นทั่วโลกขึ้นกว่า 20-30% ทั้งโลก จึงค่อนข้างเป็นไปได้ยากที่ปีนี้หุ้นจะขึ้นถึงขนาดนั้นอีก เพราะหุ้นมีการพักฐาน ดังนั้นจึงท้าทายการบริหารเพื่อให้ได้ผลตอบแทนอยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากหุ้นก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีในการลงทุนอยู่ เพียงแต่กลยุทธ์ปีนี้ก็ต้องเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงระยะสั้น ทั้งเรื่องความผันผวนตามประเภทสินทรัพย์ และอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

โดยปัจจุบัน กบข.มีพอร์ตลงทุน 8.6 แสนล้านบาท (ณ สิ้น เม.ย. 2561) จาก ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 8.3 แสนล้านบาท ลงทุนในหุ้นประมาณ 20% ของพอร์ต ทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ ส่วนตราสารหนี้มีประมาณ 63% ที่เหลือเป็นสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งในสินทรัพย์ทางเลือกนั้นมีการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด

ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศ เพดานปัจจุบันอยู่ที่ไม่เกิน 30% แต่ปัจจุบันลงทุนไปแล้วราว 27-28% ซึ่งมีทั้งลงทุนในหุ้น ในพันธบัตร และสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ ซึ่งการขยายไปตลาดโลกจะทำให้มีโอกาสเลือกหุ้นดี ๆ ลงทุนได้มากขึ้น และผลตอบแทนจะทำได้ดีกว่า

“ต้องยอมรับว่า 5 ปีที่ผ่านมา หุ้นขึ้นมาต่อเนื่อง และราคาแพง ฉะนั้นจะเห็นว่าพอเจออะไรนิดเดียวถึงปักหัวลงทันที เป็นเหมือนกันทั่วโลก ไม่เฉพาะหุ้นไทย ดังนั้นต้องยอมรับว่าเป็นเลขาฯ กบข.ช่วงนี้ ไม่สบาย สิ่งที่ต้องเน้นคือการบริหารจัดการความเสี่ยงระยะสั้น คือ ปีที่แล้วเราได้ผลตอบแทน 6.43% ส่วนไตรมาสแรกปีนี้ได้ประมาณ 1% คิดว่าปีนี้หุ้นคงไม่ดีเท่าปีที่แล้วแน่นอน อาจมีดาวน์ไซด์ด้วย อย่างไรก็ดี เราก็ต้องกระจายความเสี่ยง เพื่อบริหารผลตอบแทนให้ดีที่สุด”

อีก 1 ปีนับจากนี้ภาพลักษณ์ กบข.จะเปลี่ยนแปลงสู่การเป็น “digital GPF” ได้เป็นรูปธรรมแค่ไหน มารอดูกัน