ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า ปรับลงสู่เกณฑ์ “ซบเซา” นักลงทุนต่างชาติ ความเชื่อมั่นอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซาอย่างมาก” ปัจจัยฉุดความเชื่อมั่น “ความขัดแย้งระหว่างประเทศ-นโยบายเฟด-การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ”
วันที่ 6 สิงหาคม 2567 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 สิงหาคม 2567) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือนตุลาคม) อยู่ที่ระดับ 60.40 ปรับลงมาอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา”
นักลงทุนมองว่าปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นมากที่สุดคือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ รองลงมาคือนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด
โดยความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนสถาบัน อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซาอย่างมาก”
ทั้งนี้ผลสำรวจ ณ เดือนกรกฎาคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 11.3% มาอยู่ที่ระดับ 83.10 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 96.9% มาอยู่ที่ระดับ 112.50 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 17.4% มาอยู่ที่ระดับ 90.91 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับลด 55.6% อยู่ที่ระดับ 33.33
ในช่วงกรกฎาคม 2567 ตลาดทุนได้รับข่าวดีจากการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้อานิสงส์จากเงินเฟ้อสหรัฐที่ปรับตัวลดลง ส่งผลต่อความคาดหวังที่ FED จะลดดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงการเริ่มใช้มาตรการของตลาดหลักทรัพย์ในการใช้ Uptick Rules สำหรับการทำชอร์ตเซล และความคืบหน้าของโครงการ Digital Wallet
ถึงแม้ว่าได้รับผลกระทบจากการที่ World Bank ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เหลือ 2.4% จากที่เคยประมาณการที่ 2.8% เมื่อเดือน เม.ย. 2567 และสถานการณ์ด้านธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน โดย SET Index ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2567 ปิดที่ 1,320.86 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 44,162 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,576 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 117,559 ล้านบาท
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ นโยบายการเงินของ FED ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทิศทางการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ หลังโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐถูกลอบยิง และโจ ไบเดน ประกาศถอนตัวจากการเข้าร่วมชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ผลของมาตรการตลาดทุนจีนที่จะกระตุ้นความเชื่อมั่นนักลงทุน
อาทิ การควบคุมชอร์ตเซล และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท และสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ระหว่างรอการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ