ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจครอบครัวเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย หลาย ๆ กิจการที่รุ่งเรืองอยู่ในปัจจุบัน ก็เริ่มต้นมาจากธุรกิจครอบครัวแทบทั้งสิ้น โดยข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชี้ว่า จนถึงเดือน มิ.ย. 2567 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่เป็นธุรกิจครอบครัวถึง 575 บริษัท จาก 852 บริษัท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) กว่า 8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50.2% จากมูลค่ามาร์เก็ตแคปรวมของตลาด และมีการจ้างงานทั้งหมด 1.3 ล้านอัตรา
โดยในวงสัมมนา “Family Business in the Globalized Asia” ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการเชิญ 2 ตระกูลดัง ที่เป็นต้นแบบของธุรกิจครอบครัว มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ คือ ตระกูล “จิราธิวัฒน์” หรือ “กลุ่มเซ็นทรัล” กับตระกูล “กรมดิษฐ์” ในกลุ่ม “อมตะ”
บริหารธุรกิจสไตล์ “กรมดิษฐ์”
เริ่มจาก “วิกรม กรมดิษฐ์” ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เล่าว่า ในปัจจุบันธุรกิจของ “อมตะ คอร์ปอเรชั่น” อยู่ในตลาดหุ้น จึงให้มืออาชีพเป็นผู้บริหารงาน จะเหลือคนในครอบครัวเข้าไปมีส่วนในการทำงานอยู่แค่ 2 คน คนหนึ่งดูงานที่เวียดนามและอีกคนดูแลเรื่องการจัดซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์สำคัญ ต้องการคนที่ไว้ใจได้ที่สุด
อย่างไรก็ดี ยังมีบริษัท “กรมดิษฐ์” ซึ่งเป็นบริษัทแฟมิลี่ 100% ตนตั้งขึ้นมาเพื่อให้น้อง ๆ ที่มีถึง 20 คน เข้ามาช่วยทำงาน โดยอยู่บนหลักการ คือใครสนใจทำงาน ก็มาทำ ซึ่งจะได้รับเงินเดือน โบนัส และเงินปันผล เป็นค่าตอบแทน หากใครไม่ทำ ก็ไม่ได้ ที่สำคัญจะไม่มีการซื้อขายหุ้น ไม่มีการแบ่งหุ้น ถ้าเกิดครอบครัวไหนเสียชีวิตก่อน สัดส่วนหุ้นในบริษัทก็จะถูกถัวเฉลี่ยให้ทุกคนเท่ากัน ๆ
“วิธีการบริหารจัดการแบบนี้ผมอยากให้ครอบครัวเป็นเหมือนไม้ไผ่ที่รวมกันหลายอัน ๆ เพื่อความแข็งแรง ไม่ทะเลาะกัน ซึ่งก็หวังว่าธุรกิจครอบครัวกรมดิษฐ์จะมีอายุขัยตลอดไปได้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา จะมีการประชุมครอบครัว มาตลอดกว่า 40 ปี มี Family Meeting ทุกเดือนกับน้อง ๆ และกับหลาน ๆ 3 เดือนครั้ง ตอนนี้ครอบครัวของเราก็มีขนาดใหญ่ขึ้น หากรวมเขยกับสะใภ้เกือบ 50 คนไปแล้ว”
เตือนเข้าตลาดหุ้นอย่าขี้โกง
“วิกรม” กล่าวด้วยว่า การที่ “อมตะ” นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ก็ทำให้มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น
“เดิมอาจทำงานแบบเถ้าแก่ แต่เข้าตลาดหุ้นแล้วทุกอย่างต้องเป็นระบบหมด และทำให้เราสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อเนื่อง ที่สำคัญ ขอฝากว่าเจ้าของที่จะนำบริษัทตัวเองเข้าตลาดหุ้น ต้องไม่มีความคิดขี้โกง เรื่องธรรมาภิบาลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ส่วนอื่นอยู่ที่การบริหารเป็นสำคัญ”
เซ็นทรัล ให้ความสำคัญมืออาชีพ
ขณะที่ “พรชนก ตันสกุล” Chief of Staff ตัวแทนกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน จะเข้ามาทำงานกับกลุ่มเซ็นทรัล ตอนนั้นเซ็นทรัลมีการจัดทำธรรมนูญครอบครัวและมีการปรับโครงสร้างไปแล้ว ซึ่งค่อนข้างชัดเจนในการแยกบทบาท ระหว่างครอบครัว “จิราธิวัฒน์” และ “ธุรกิจ” โดยครอบครัวกับผู้บริหาร ก็คือตามหน้าที่ มีความรับผิดชอบในการจ้างคน วางแผน นำเสนอ และให้อำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งทำให้ผู้บริหารมืออาชีพ มีโอกาสได้แสดงความสามารถ โดยมีบอร์ดของครอบครัวรับฟัง
“เราเข้าไปเป็น Professional แต่ก็มี Career Path ที่ชัดเจน คือ มีตัววัด มีการประเมินค่าตอบแทน และมีโอกาสให้เราได้เติบโตในสายอาชีพ”
ปีที่แล้วเซ็นทรัลฉลองครบรอบ 75 ปี ถือว่ามีประวัติที่ยาวนาน โดยการเข้าตลาดหุ้นก็ทำให้ภาพลักษณ์ดี ผู้บริหารมืออาชีพอยากเข้ามาร่วมงาน เหมือนเป็นการวางโครงสร้าง Professional Management มีแผนงานที่ไม่ทำให้ธุรกิจจบอยู่ที่รุ่นใดรุ่นหนึ่ง
“สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกที่ช่วยให้เราสามารถทำแบบนี้ได้ โดยช่วยให้มีความโปร่งใส ทั้งในครอบครัวด้วย สบายใจไม่ได้เอาเปรียบใคร ดังนั้น กลุ่มเซ็นทรัลน่าจะเป็นบริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนไปอีก 100 ปี หรือมากกว่านั้นได้”
ชู 3 โมเดลรุกธุรกิจต่างประเทศ
ขณะที่การรุกไปตลาดต่างประเทศ กลุ่มเซ็นทรัลจะมีโมเดลธุรกิจอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1.หาซื้อที่ดินและเปิดร้าน เติบโตแบบ Organic Growth 2.หาพันธมิตรร่วมลงทุน และ 3.ซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้ทดลองมาหมดแล้ว ซึ่งเมื่อเริ่มมีชื่อเสียงในยุโรป ก็เริ่มมีพาร์ตเนอร์มาสนใจร่วมทุน ทำให้การขยายธุรกิจช่วงหลัง ๆ ก็เริ่มใช้โมเดลการลงทุนแบบร่วมทุนมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม การขยายธุรกิจไปต่างประเทศไม่ง่าย เพราะว่าเราหาคนจากเมืองไทยไปทำงานอยู่ไกล ๆ ไม่ค่อยมี ถ้าซื้อกิจการไปแล้ว แต่ไม่มีใครไปดูแล ก็ทำธุรกิจยาก แต่ในยุโรปก็จะมี Family Member เจเนอเรชั่น 3-4 ที่ดูแลอยู่เพื่อสร้างคอนเน็กชั่น ฉะนั้นโอกาสในต่างประเทศมีอยู่ แต่เราต้องการคนที่เราไว้ใจและเชื่อใจได้เข้าไปดูแลด้วย”
“พรชนก” กล่าวว่า วันนี้เศรษฐกิจในหลายประเทศมหาอำนาจค่อนข้างชะลอตัว ทำให้เกิดความผันผวนมายังเศรษฐกิจไทย และลามกระทบถึงตลาดเงินตลาดทุน จึงต้องมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด เพราะมีผลต่อการลงทุน
“เราอยู่ในธุรกิจ Consumer เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือการเปลี่ยนยุคของเจเนอเรชั่นไปสู่เจน Z ที่เป็นผู้มีกำลังซื้อและค่านิยมใหม่ ๆ ในอนาคต ก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่ง รวมไปถึงการมาของเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปต์หลาย ๆ ธุรกิจ ซึ่งหากเราปรับตัวนำมาใช้ได้เร็วก็จะได้เปรียบคู่แข่งในด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า”