บจ.ไทยไตรมาส 1/61 กำไรรวม 2.86 แสนล้าน โต 15.5% สอดรับเศรษฐกิจฟื้นตัวดี

บจ.ไทยไตรมาส 1/61 กำไรรวม 2.86 แสนล้านบาท โต 15.5% สอดรับเศรษฐกิจฟื้นตัวดี มองทั้งปีกำไรสูงกว่าปีก่อนที่ 9.9 แสนล้านบาท

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ช่วงไตรมาส 1/61 มีบริษัทนำส่งงบการเงินจำนวน 449 บริษัท คิดเป็น 82.45% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด โดยมีกำไรสุทธิรวม 2.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.55% เมื่อเทียบช่วงไตรมาส 4/60 จากการขยายตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในระดับ 4.8% สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส ประกอบกับ บจ.กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคมีกำไรเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจโรงไฟฟ้า และธนาคารมีผลการดำเนินงานดีขึ้นแต่หากเทียบช่วงไตรมาส 1/60 อาจจะเติบโตไม่มากที่ระดับ 0.30% เท่านั้น เนื่องจากผลประกอบการช่วงไตรมาส 1/60 ทำนิวไฮคิดเป็นสัดส่วน 29% ของกำไรทั้งปี 60

ทั้งนี้ สำหรับไตรมาส 1/61 ราคาน้ำมันยังเพิ่มสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 23.72% ลดลงเล็กน้อยจาก 24.33% ในช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมียอดขายรวม 2.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.61% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งบจ.ส่วนใหญ่มียอดขายปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมวดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

ด้านฐานะการเงินของกิจกา พบว่า โครงสร้างเงินทุนของ บจ. ยังคงแข็งแรง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1.15 เท่า เทียบกับสิ้นปี 60 ที่ 1.17 เท่า
ส่วนผลการดำเนินงานของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในภาพรวมปรับดีขึ้น โดยในไตรมาส 1/61 บจ. mai มีกำไรสุทธิ 1.81 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 69.56% จากไตรมาส 4/60

“ในไตรมาสแรกนี้ บจ.ไทยมียอดขายสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและราคาน้ำมันดิบซึ่งปรับสูงขึ้นราว 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และอัตราดอกเบี้ยไทยที่ยังไม่สูงมากจะไม่กระทบกับต้นทุนและผลประกอบการของ บจ. ในขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดคาดว่าในปีนี้อีก 2 ครั้ง จากเรื่องสงครามการค้าไม่เป็นไปตามคาด ส่วนฟันด์โฟลว์ที่ไหลออกเป็นผลกระทบทั้งภูมิภาค รวมถึงปีนี้จะไม่เห็นแบงก์มีการตั้งสำรองผิดปกติแล้ว” นางเกศรากล่าว

อย่างไรก็ดี การผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนได้ส่งผลกระทบทางลบต่อ บจ. ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งกระจายตัวอยู่ในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และหมวดวัสดุก่อสร้าง ขณะที่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมีส่วนทำให้ บจ. ได้รับผลกระทบด้านความสามารถในการทำกำไร และต้องปรับตัวในการบริหารกิจการมากขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้หมวดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวยังคงมียอดขายและกำไรสุทธิเติบโตได้ดี ทั้งหมวดธุรกิจพาณิชย์ ขนส่งและโลจิสติกส์ การแพทย์ ท่องเที่ยวและสันทนาการ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเงินทุนและหลักทรัพย์


“กำไรสุทธิรวมทั้งปี 2561 นี้ มองว่าจะสูงกว่าปีก่อนที่ทำได้ 9.9 แสนล้านบาท หรืออาจจะทะลุ 1 ล้านล้านบาท จากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูงเช่นนี้ รวมถึง บจ.ไทยมีการขยายงานทั้งในภูมิภาคและในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น” นางเกศรา กล่าว