ดอลลาร์ยังคงอ่อนค่า ตลาดจับตาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ค.ของสหรัฐฯ ในวันที่ 14 ส.ค. รวมทั้งการแสดงความเห็นของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง
วันที่ 8 สิงหาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ (8/8) ที่ระดับ 35.57/58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/8) ที่ระดับ 35.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยเคลื่อนไหวในกรอบ หลังถูกกดดันจากคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน ก.ค.ของสหรัฐในวันที่ 14 ส.ค. รวมทั้งการแสดงความเห็นของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดในการประชุมประจำปีของเฟดซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 22-24 ส.ค.นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ โดยการประชุมจะจัดขึ้นในหัวข้อ “Reassessing the Effectiveness and Transmission of Monetary Plolicy”
ด้านปัจจัยภายในประเทศ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าว่ายังมีความเปราะบาง แม้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐจะเริ่มนำเงินไหลเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณทำให้การใช้จ่ายของรัฐกลับมาขยายตัวเฉลี่ยสูงกว่า 15% ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567
แต่อย่างไรก็ดี อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัว สะท้อนจากยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2567) ชะลอตัว -8.8%, ยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2567) ชะลอตัวต่อเนื่องที่ -24% เมื่อเทียบรายปี และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้น้อย ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาฟื้นตัว
ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.32-35.58 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.36/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/8) ที่ระดับ 1.0925/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/8) ที่ 1.0922/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร วานนี้ (7/8) ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีที่เปิดเผยในวันนี้ (7/8) ระบุว่า ยอดส่งออกของเยอรมนีในเดือน มิ.ย. 2567 ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยสาเหตุมาจากความต้องการสินค้าที่ลดลงจาก 2 แห่งสำคัญ คือ สหรัฐซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของเยอรมนีและประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป
สำนักงานสถิติฯรายงานว่า เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ยอดส่งออกสินค้าของเยอรมนีในเดือน มิ.ย.ลดลง 3.4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจจะลดลงเพียง 1.5% เท่านั้น อีกทั้งยอดเกินดุลการค้าระหว่างประเทศของเยอรมนีลดลงเหลือ 2.04 หมื่นล้านยูโร จากเดิม 2.49 หมื่นล้านยูโรในเดือน พ.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.35 หมื่นล้านยูโร
ข้อมูลดังกล่าวส่งสัญญาณว่า ไตรมาสที่ 2/2567 เศรษฐกิจเยอรนีได้หดตัวลง ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีแสดงให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวก
นอกจากตัวเลขการค้าแล้ว สำนักงานสถิติฯยังรายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 1.4% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนเดียวกันฟื้นตัวดีขึ้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจเยอรมนียังคงไม่ดีนัก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0923-1.094 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0924/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้านี้ (8/8) ที่ระดับ 146.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (7/8) ที่ 147.14/17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวานนี้ (7/8) รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่า รัฐบาลได้ทุ่มเงิน 5.92 ล้านล้านเยน เมื่อวันที่ 29 เม.ย.เพื่อหนุนค่าเงินเยน ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงครั้งใหญ่ที่สุดภายในวันเดียว ตามมาด้วยอีก 3.87 ล้านล้านเยนในสองวันต่อมา
ข้อมูลดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ทางการญี่ปุ่นได้ออกมายืนยันวันและปริมาณการเข้าซื้อเงินเยนและเทขายเงินดอลลาร์ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. โดยวงเงินทั้งหมดที่ใช้ในช่วงเวลาดังกล่าวแตะ 9.79 ล้านล้านเยน ซึ่งถือเป็นสถิติเข้าซื้อเงินเยนสูงสุดเมื่อรวมทั้งไตรมาส อีกทั้งมีรายงานว่า นายชินอิจิ อุชิดะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า BOJ จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบันเพื่อดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป และจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในขณะที่ตลาดการเงินยังไร้เสถียรภาพ
ในวันนี้ (8/8) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 12.68 ล้านล้านเยน โดยปัจจัยหนุนสำคัญมาจาก 2 ส่วน คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งได้อานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนตัว และการขาดดุลการค้าที่ลดลง รายได้หลักของญี่ปุ่นเกินดุลอยู่ที่ 19.20 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลตอบแทนพันธบัตรต่างประเทศที่สูงขึ้น ถือเป็นยอดเกินดุลรายได้หลักสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับรอบครึ่งปี
ส่วนการขาดดุลการค้าของญี่ปุ่นลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 2.61 ล้านล้านเยน เนื่องจากการส่งออกขยายตัว 6.7% ที่ระดับ 50.61 ล้านล้านเยน ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียง 1.1% อยู่ที่ระดับ 53.22 ล้านล้านเยน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.42-146.87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 146.09/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (8/8), สต๊อกสินค้าคงคลับภาคค้าส่งเดือน มิ.ย. (8/8), การคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคเดือน ก.ค. (12/8)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.0/8.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.5/-12.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ