บัตรเครดิตขานรับเงินดิจิทัล-ชี้ปรับชำระขั้นต่ำหนี้เสียพุ่ง

card

ธุรกิจบัตรเครดิตครึ่งปีหลังยังหืดจับ เศรษฐกิจฟื้นไม่เต็มที่-หนี้ครัวเรือนกดดัน-ชำระขั้นต่ำ 8% ดันหนี้เสียพุ่ง หวังงบประมาณ-ดิจิทัลวอลเลต ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อปลายปี “CardX” รับธุรกิจยังท้าทาย ขอปรับโหมดระมัดระวัง เน้นลูกค้าเดิม-เจาะกลุ่มรายได้สูง ฟาก “อิออน” ชี้ปรับชำระขั้นต่ำทำหนี้เสียกระตุกเพิ่ม เล็งเพิ่มสัดส่วนลูกค้าระดับกลาง-บน รายได้ 2.5-3 หมื่นบาท ขณะที่ล่าสุด ธปท.ยืดเวลาปรับขึ้นชำระขั้นต่ำเป็น 10% ออกไปอีก 1 ปี

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด หรือ CardX เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจในปีนี้ ค่อนข้างท้าทายจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ และการปรับชำระขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% รวมถึงภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังเป็นแรงกดดันการใช้จ่าย สะท้อนจากตัวเลขยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) ในช่วงครึ่งแรกของปีมีอัตราการเติบโตติดลบ

สารัชต์ รัตนาภรณ์
สารัชต์ รัตนาภรณ์

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าสถานการณ์น่าจะปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐมีการเบิกจ่ายงบประมาณ และโครงการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจภาพรวม ประกอบกับในช่วงปลายปีจะเป็นฤดูกาลการใช้จ่ายในเทศกาลต่าง ๆ ทำให้ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรน่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ CardX ยังคงอยู่ในโหมดระมัดระวัง โดยนำเอาปัญญาประดิษฐ์ (AI) และข้อมูล (Data) มาวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า เพื่อลดความเสี่ยง และเน้นการเติบโตและกระตุ้นยอดใช้จ่ายในกลุ่มลูกค้าเก่าเป็นหลัก ซึ่งหมวดร้านอาหารและท่องเที่ยว ยังเป็นหมวดหลักที่มีการเติบโต ส่วนลูกค้ารายใหม่จะพิจารณาประวัติข้อมูลเครดิต (NCB Score) ความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงเน้นกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น เช่น รายได้เกิน 3 หมื่นบาทต่อเดือน เป็นต้น

“ปีนี้ เราตั้งเป้าเติบโตยอดใช้จ่ายไม่สูงมากอยู่ที่ประมาณ 3-5% เพราะธุรกิจยังคงมีความท้าทาย เรายังอยู่ในโหมดระมัดระวัง เน้นลูกค้าเดิม รายใหม่เลือกมากขึ้น คาดว่าหนี้เสียจะเริ่มทรงตัว หลังจากปรับขึ้นในไตรมาส 1 และ 2”

นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า ครึ่งแรกของปี 2567 ธุรกิจบัตรเครดิตค่อนข้างซึม แต่คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ส่วนหนึ่งมาจากเป็นช่วงฤดูกาลการใช้จ่ายช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงยังมีผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต ซึ่งจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อที่ดีขึ้น จึงเป็นสัญญาณบวกต่อธุรกิจบัตรเครดิต

ADVERTISMENT

“ช่วงที่เหลือของปีนี้ อิออนตั้งเป้าการเติบโต 2 หลัก โดยจะเน้นขยายตัวใน 3 หมวดหลัก คือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต สถานีน้ำมัน และประกัน ซึ่งเป็นหมวดที่เติบโตได้ดี รวมถึงจะขยายไปสู่หมวดช็อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากมีรูมที่จะขยายเพิ่มได้อีก รวมถึงการขยับฐานลูกค้าไปสู่ระดับกลางและระดับบนมากขึ้น จากเดิมจะเน้นกลุ่มรายได้ 15,000-20,000 บาทต่อเดือน จะเพิ่มในกลุ่มรายได้ 25,000-30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 15% จะเพิ่มเป็น 20-30% ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตได้ ความเสี่ยงไม่สูง และผลกระทบจากเศรษฐกิจมีไม่มากนัก”

นายนันทวัฒน์กล่าวว่า ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธุรกิจบัตรเครดิตทั้งระบบ อาจจะยังเห็นสัญญาณการขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 3 และจะเริ่มทรงตัวหรือปรับลดลงในไตรมาส 4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการหนี้เสียของแต่ละแห่ง ทั้งการตัดขายหนี้ หรือการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ การปรับขยับเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอล ส่วนหนึ่งมาจากการปรับอัตราการชำระขั้นต่ำเป็น 8% ทำให้การชำระของลูกค้าสะดุดไปบ้าง

ADVERTISMENT

“เชื่อว่าหลังจากลูกค้าปรับตัวได้สัญญาณการผิดนัดชำระหนี้จะกลับมาดีขึ้น โดยหนี้เสียเราคาดว่าจะเริ่มทรงตัว จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.4% เพราะลูกค้าเริ่มคุ้นชินกับการจ่ายขั้นต่ำเป็น 8% หลังจากสะดุดไปเล็กน้อย ทำให้ยอดค้างชำระเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนี้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ดี การดำเนินธุรกิจยังคงอยู่ในโหมดระมัดระวัง สอดคล้องกับการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เชื่อว่าทุกแห่งยังคงทำในเชิงป้องกันไว้ก่อน ขณะเดียวกัน เราจะไปมุ่งเน้นโตในกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางและบนมากขึ้น”

ล่าสุด ธปท.ได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในส่วนของการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต โดยให้คงอัตราอยู่ที่ 8% ออกไปอีก 1 ปีจนถึงปี 2568 จากเดิมจะปรับเพิ่มเป็น 10% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยมีมาตรการจูงใจสำหรับลูกหนี้ที่ผ่อนชำระขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ย 0.50% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2568 และ 0.25% ในช่วงครึ่งหลังของปี โดยลูกหนี้จะได้รับเงินคืนทุก 3 เดือน

นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ประเทศไทยใช้การชำระขั้นต่ำที่ 10% มาตั้งแต่ปี 2547 แต่มาผ่อนปรนในช่วงโควิด-19 เหลือ 5% เป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะมาปรับเป็น 8% ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2567 ซึ่งหลังปรับขึ้น พบว่า ตัวเลขลูกหนี้ที่จ่ายน้อยกว่า 8% ในเดือน ม.ค. อยู่ที่ 18% แต่มาในเดือน พ.ค. ลดลงเหลือ 7%

“แม้ว่าตัวเลขจะปรับลดลง แต่ยอมรับว่าใน 7% มีที่เป็นหนี้เสีย และยังชำระได้ เราจึงยกเลิกการปิดวงเงิน เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่อง”