TIDLOR ราคาหุ้นร่วงหนัก ปัญหาหนี้เสียรถยนต์พุ่ง หวั่นตั้งสำรองเพิ่ม

หุ้นผันผวน

TIDLOR ราคาหุ้นร่วงหนัก 12.10% บล.กสิกรไทย ชี้นักลงทุนกังวลหนี้เสียพุ่ง กลุ่มรถยนต์ 4 ล้อ น่าจะเห็นอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น หวั่นต้องตั้งสำรองเพิ่ม ด้าน บล.เอเซียพลัส ปรับลดกำไรปี 67-68 เฉลี่ย 8% จาก Credit Cost

วันที่ 9 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น TIDLOR วันนี้ พบว่าปรับตัวร่วงหนักและแกว่งในแดนลบตลอดทั้งวัน โดยลงไปทดสอบจุดต่ำสุด (LOW) ที่บริเวณ 13 บาท ลดลง 2.7 บาท หรือติดลบ 17.19% เมื่อเทียบจากราคาวันก่อนหน้าที่ 15.70 บาท โดยปิดตลาดยืนที่ราคา 13.80 บาท ลดลง 1.90 บาท หรือติดลบ 12.10% มีมูลค่าการซื้อขาย 1,260 ล้านบาท

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ราคาหุ้น TIDLOR ที่ปรับตัวลงแรงวันนี้เป็นเพราะในงบการเงินงวดไตรมาส 2/2567 ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ออกมาแย่ และเห็นลูกหนี้กลุ่ม Stage 2 ยังคงขึ้นที่มากกว่าคาด สะท้อนว่าไม่ได้อยู่ในภาพที่บริหารจัดการได้

โดยพอร์ตลูกหนี้ที่มีปัญหาคือกลุ่มรถยนต์ 4 ล้อ ที่น่าจะเห็นอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้น ขณะที่รถ 2 ล้อ หรือรถบรรทุก ยังไม่เห็นความเสี่ยงมากนัก สะท้อนว่า TIDLOR จะต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยการประชุมนักวิเคราะห์วันนี้ทาง TIDLOR แจ้งว่าอาจต้องตั้งสำรองใกล้เคียงช่วงไตรมาส 2/2567 ที่ประมาณ 3.5-3.6%

ทั้งนี้ TIDLOR รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม (NPL ratio) สิ้นไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 1.86% ปรับตัวขึ้นจากสิ้นไตรมาส 1/2567 ที่ระดับ 1.60% จากปัจจัยทางเศรษฐกิจและคุณภาพของลูกหนี้หลังการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ทั้งนี้ บริษัทมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเท่ากับ 4,356 ล้านบาท

คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) ที่ 227.3% ปรับตัวลงจากสิ้นไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 264.1% แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยการตั้งสำรองเป็นไปตามการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมและคำนึงถึงปัจจัยความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Advertisment

บล.เอเซีย พลัส รายงานว่า เพื่อสะท้อนภาพ NPL และอัตราส่วนผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อ (Credit Cost) ที่เกิดขึ้น ฝ่ายวิจัยปรับลดกำไรสุทธิปี 2567-2568 เฉลี่ย 8% เหลือ 4.1 พันล้านบาท (+9% YOY ในครึ่งปีแรกคิดเป็นสัดส่วน 53% ของประมาณการใหม่) และปี 2568 ที่ 4.9 พันล้านบาท (+18% YOY เพราะสินเชื่อเติบโต รวมถึง Credit Cost ลดลงเล็กน้อย) ผ่านการปรับสมมติฐาน Credit Cost ปี 2567-2568 จาก 3.3% และ 3.2% ตามลำดับ มาอยู่ที่ 3.70% และ 3.65% ตามลำดับ ส่วนสมมติฐานอื่นคงเดิม

Advertisment