ภาคธุรกิจ-นายแบงก์ หวั่นเศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย ฟาดหางถึงไทย “ดร.อมรเทพ” ยังเชื่อเศรษฐกิจอเมริกาชะลอแบบ “Soft Landing” คาดเฟดลดดอกเบี้ย 3 ครั้งปลายปีนี้ ส่วน ธปท.อาจลดแค่ครั้งเดียว แนะตุนสภาพคล่องรับมือ แบงก์กรุงเทพ-กรุงไทย ตั้งการ์ดดูแลลูกค้า โดยเฉพาะรายเล็ก ขณะที่การส่งออกของไทยครึ่งปีแรกยังทำได้สวยใน 3 ตลาดหลัก มองภาพรวมโตทั้งปี 1-2%
“อมรเทพ” ประเมิน ศก.สหรัฐ
จากปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจโลกไม่สดใส โดยเฉพาะ 3 ตลาดใหญ่ ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน ที่เผชิญสภาวะเศรษฐกิจหดตัว จะส่งผลกระทบหรือสะเทือนถึงไทยอย่างไรบ้างนั้น ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีหลายปัจจัยที่เป็นดัชนีชี้นำว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะแย่
ทั้งรายงานตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอย และคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยแรง โดยอาจจะลด 3 ครั้งในปีนี้ และมีโอกาสลดแรงถึงครั้งละ 0.50%
หวั่นกระทบไทย 3 ชิ่ง
ดร.อมรเทพกล่าวอีกว่า จากความเสี่ยงที่สูงขึ้นจะกระทบเศรษฐกิจไทย 3 ด้าน ได้แก่ 1.ภาคการส่งออก ซึ่งประเมินว่าการส่งออกจะฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แต่หากการส่งออกไทยได้รับผลกระทบจากตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด หากตลาดเกิดการอ่อนแรงอาจจะกระทบภาคการผลิตของไทยได้ และจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าไปอีก
2.ภาคการท่องเที่ยว แม้สหรัฐไม่ใช่นักท่องเที่ยวรายใหญ่ของไทย แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวจะทำให้ทั่วโลกชะลอด้วย ซึ่งจะกระทบการเดินทางมาของนักท่องเที่ยว โดยตอนนี้ไทยเน้นนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย รัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย ซึ่งประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ทำให้การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวไม่ได้แรงมากนัก
คาดเฟดลดดอก-ธปท.ลงตาม
และ 3.กระทบผ่านความผันผวนตลาดเงินตลาดทุน ทั้งทิศทางค่าเงินบาท แต่แน่นอนว่าภาพเหล่านี้จะสนับสนุนการลดดอกเบี้ยของไทยได้ชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าการชะลอตัวของสหรัฐที่ชัดเจนขึ้น จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปีนี้
“การลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ กรณีที่เราคิด ไม่ได้คิดเพราะสหรัฐเข้าสู่ Recession แค่เป็นการชะลอ Soft Landing โดยเราคิดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ส่วนไทยน่าจะรอลดเดือน ธ.ค. 2567 ที่ 0.25% แต่ปีหน้าผมมองว่าจะลดอีกเยอะ” ดร.อมรเทพกล่าว
แนะธุรกิจตุนสภาพคล่อง
สำหรับการรับมือความเสี่ยงต่างประเทศ ดร.อมรเทพกล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยถือว่าช้าอยู่แล้ว การส่งออกอาจฟื้นต่ำกว่าที่คาดการณ์ แต่ไม่ใช่เฉพาะจากประเด็นสหรัฐ แต่เป็นเรื่องของประเทศจีนที่ชะลอตัวด้วย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่เติบโตช้า ซึ่งธุรกิจคงต้องไม่มองแค่ระยะสั้น แต่ต้องมองระยะถัดไปด้วย ทั้งเรื่องของการเพิ่มนวัตกรรม หาคู่ค้า หรือพยายามลดต้นทุน
“ผมว่าหลายอย่างที่เราทำกันอยู่ ต้องเดินหน้าทำกันต่อ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล การเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุน ต้องเดินหน้าต่อ แต่แน่นอนว่าในระยะสั้น สิ่งที่อยากแนะนำที่อยู่ในความผันผวนแบบนี้ ธุรกิจต้องอยู่รอดให้ได้ เสริมสภาพคล่องต้องเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะรายเล็ก รายกลาง และต้องทำองค์กรให้ลีน (ปรับลดขนาดองค์กร) พยายามหาฐานลูกค้าใหม่”
แบงก์ตั้งการ์ด-ดูแลลูกค้า
ด้านภาคการเงิน นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เรื่องที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยกันนั้น เชื่อว่าลูกค้าปรับตัวให้สอดคล้องกันอยู่ อย่างไรก็ดี ภายใต้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนั้น พอร์ตของธนาคารก็มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา และเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่เกี่ยวข้อง แต่เชื่อว่าลูกค้าของธนาคารมีความระมัดระวัง และธนาคารช่วยเหลือลูกค้าอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องสภาพคล่อง สนับสนุนการลงทุน
“ในช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารมุ่งมั่นที่จะเข้าถึงความต้องการของลูกค้า สนับสนุนสภาพคล่อง และด้านการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง สามารถที่จะแข่งขันธุรกิจได้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับการเติบโตทางสินเชื่อ เรายังคาดการณ์การเติบโตที่ 3-5% ตามเดิมที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนการตั้งสำรองครึ่งปีหลังยังต้องดูสภาพตลาดว่าเป็นในทิศทางไหน จากที่เราได้ตั้งสำรองอยู่ในระดับหนึ่ง
“กรุงไทย” ห่วงรายเล็ก
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารให้ความกังวลแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ภายนอกประเทศ ภาคการส่งออกที่วันนี้เริ่มเห็นความท้าทายมากขึ้น สาเหตุมาจากจีนที่มีกำลังการผลิตเหลือ
ขณะเดียวกัน ในระยะข้างหน้าหากสหรัฐมีการเลือกตั้ง และหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดี จะส่งผลให้เกิดกำแพงภาษี ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอน จากสินค้าที่จะทะลักเข้ามาในไทย และเกิดการดัมพ์ราคาแข่งขัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่สามารถปรับตัวหรือแข่งขันได้ด้วยต้นทุนจะได้รับผลกระทบชัดเจน
และ 2.ภายในประเทศ วันนี้จะเริ่มมีความกังวลเรื่องการแข่งขัน เพราะการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เข้ามาในไทย และเป้าหมายคือ Manufacturing Price to Consumer จะเห็นว่าแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น Amazon เริ่มให้ความกังวลและได้รับผลกระทบเช่นกัน เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องติดตาม และยกระดับคุณภาพของสินค้าที่เข้ามาแข่งขันในไทย
กกร.ชี้ไทยส่งออกได้ดีอยู่
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยผลการประชุม กกร.ว่า ที่ประชุมคงประมาณการเป้าหมายตัวเลขส่งออกปี 2567 เติบโต 0.5-1.0% ภาพรวมครึ่งแรกของปี 2567 มีมูลค่า 145,290 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.0% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การส่งออกไปหลายตลาดสำคัญของไทยที่ผ่ามายังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐ CLMV ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา แต่มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังต้องจับตามอง
สรท.จับตาเลือกตั้งสหรัฐ
สอดคล้องกับ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.คาดการณ์การส่งออกปี 2567 เติบโต 1-2% จากปีก่อน ครึ่งปีแรกส่งออก 145,290 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2% และมีมูลค่าในรูปเงินบาท 5,191,014 ล้านบาท ขยายตัว 7.4%
อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลังยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อาจส่งผลต่อมาตรการทางการค้าและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสหภาพแรงงานสหรัฐทั่วประเทศที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง หยุดการผลิต กระทบต่อการนำเข้าสินค้าในภาคการผลิต
อัตราค่าระวางในบางเส้นทางยังคงปรับเพิ่มขึ้น เช่น เส้นทางยุโรป สหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก และออสเตรเลีย และปัญหาสินค้าล้นตลาดจากประเทศจีนที่ระบายออกสู่ตลาดโลก ส่งผลให้สินค้าต้นทุนต่ำเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทย รวมถึงเข้าไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ
ส่งออก 3 ตลาดหลักเติบโต
ภาพรวมตลาดส่งออกหลัก 3 ตลาดทั้ง สหรัฐ จีน และสหภาพยุโรป ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าช่วง 6 เดือนแรก ตลาดส่งออกไปสหรัฐมีมูลค่า 25,768 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.2% ตลาดจีนครึ่งแรกของปี 2567 มีมูลค่า 17,602.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.2% เช่นเดียวกับตลาดสหภาพยุโรป ครึ่งแรกของปี 2567 มีมูลค่า 11,774.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.4%
เจาะภาพรวมเศรษฐกิจโลก
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่น่าจับตาประกอบด้วย ความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะถดถอยถูกจุดชนวนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเห็นข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐอ่อนตัวลง โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2567 เพิ่มขึ้นต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจากเดือนมิถุนายน
ขณะที่อัตราว่างงานสหรัฐเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 4.3% เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และเมื่อนำอัตราว่างงานไปคำนวณตามสูตร “กฎของซาห์ม” (Sahm Rule) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจถดถอยที่มีความแม่นยำในอดีต ผลลัพธ์ที่ได้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังถดถอย
ยุโรปยังซึม-จีนไม่ฟื้นไข้
ส่วนฝั่งยุโรปเศรษฐกิจซึม ๆ อัตราการเติบโตต่ำต่อเนื่องมาหลายไตรมาส ตัวเลขยอดค้าปลีกเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) 6 เดือนแรกของปีนี้ติดลบ หรือหดตัวไป 3 เดือน อัตราการเติบโตมากสุดอยู่ในเดือนพฤษภาคม 0.7% ล่าสุดตัวเลขของเดือนมิถุนายนหดตัวลง 0.3% บ่งชี้ว่าการบริโภคยังอ่อนแอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศส่งออกที่พึ่งพาตลาดอียู
ฝั่งประเทศจีนการบริโภคภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวขึ้น ชาวจีนไม่กล้าใช้เงินเหมือนก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตอสังหาฯ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาต้องพึ่งพาเพียงการส่งออกอย่างเดียว นอกจากนั้น จีดีพีไตรมาส 2/2567 ขยายตัวเพียง 0.7% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า และ 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนแรง
PMI ชี้ฟุบต่ออีก 6 เดือน
ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตทั่วโลกที่สำรวจโดยธนาคารเจพีมอร์แกน พบตัวเลขอยู่ที่ 49.7 จุด บ่งชี้แนวโน้มว่าเศรษฐกิจในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าจะหดตัวลงจากปัจจุบัน สอดคล้องกับสัญญาณที่เห็นจากการส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคมที่ชะลอลง ซึ่งบ่งชี้ว่าดีมานด์ในตลาดโลกหดลง