
ตลาดแรงงานสหรัฐส่งสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัว ตลาดคาดเฟดลดดอกเบี้ยปลายปี
วันที่ 9 สิงหาคม 2567 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 5-9 สิงหาคม 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (5/8) ที่ระดับ 35.25/35.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/8) ที่ระดับ 35.35/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังการเปิดเผยตัวเลขภาคแรงงานสหรัฐที่อ่อนแอในวันศุกร์ (2/8)
โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ค. ซึ่งตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 177,000 ตำแหน่ง อีกทั้งมีการปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน มิ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้นเพียง 179,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 206,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.1%
โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นปัจจัยกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ และส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยรุนแรงขึ้นกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยล่าสุด CME Fed Watch บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.50 ลงสู่ระดับร้อยละ 4.75-5.00 ในการประชุมเฟดเดือนกันยายน และนักลงทุนให้น้ำหนัก 85% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยร้อยละ 1.00 ในปี 2567
นอกจากนี้กระทรวงแรงงานพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐปรับตัวลง 3.5% ในเดือน มิ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าปรับตัวลง 2.9% หลังจากปรับตัวลง 0.5% ในเดือน พ.ค. บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอของสหรัฐ อีกทั้งนายออสแตน กูลสบี ประธานเฟด สาขาชิคาโก กล่าวว่า เฟดควรมีมาตรการตอบรับต่อสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยไม่ควรที่จะเข้มงวดเกินไปในขณะนี้
อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่า หลังจากในวันจันทร์ (5/8) สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.4 ในเดือน ก.ค. โดยฟื้นตัวขึ้นจากระดับ 48.8 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 51.0 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคบริการ โดยได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้าง
โดยนักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือน ก.ค.ของสหรัฐ ในวันที่ 14 ส.ค. รวมทั้งการแสดงความเห็นของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดในการประชุมประจำปีของเฟดซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 22-24 ส.ค.นี้ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ โดยการประชุมจะจัดขึ้นในหัวข้อ “Reassessing the Effectiveness and Transmission of Monetary Policy”
นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุน หลังจากในวันพฤหัสบดี (8/8) หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐดิ่งลงอย่างรุนแรงเกินคาด โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรูดลง 17,000 ราย สู่ 233,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ส.ค. ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบราว 11 เดือน ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์คาดไว้ว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอาจอยู่ที่ 240,000 รายในสัปดาห์ล่าสุด โดยรายงานดังกล่าวช่วยลดความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ
สำหรับปัจจัยภายในภูมิภาค ไฉซินและเอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยผลสำรวจในวันจันทร์ (5/8) ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีน ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 52.1 ในเดือน ก.ค. จากระดับ 51.2 ในเดือน มิ.ย. บ่งชี้ว่าภาคบริการของจีนมีการขยายตัวรวดเร็วขึ้นในเดือน ก.ค. แม้อุปสงค์ในต่างประเทศชะลอตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเดือนที่ 19
นอกจากนี้ในวันศุกร์ (9/8) สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนปรับขึ้น 0.5% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดรอบ 5 เดือน หลังจากปรับขึ้น 0.2% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายปี และอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ 0.3% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยราคาผู้บริโภคได้รับแรงหนุนจากความแข็งแกร่งของราคาอาหารท่ามกลางปัญหาด้านสภาพอากาศ
อีกทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ดิ่งลง 0.8% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายปี หลังจากรูดลง 0.8% ในเดือน มิ.ย.เมื่อเทียบรายปี และเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ -0.9% สำหรับเดือน ก.ค. โดยภาวะเงินฝืดในส่วนของผู้ผลิตยังคงดำเนินต่อไป และรายงานนี้บ่งชี้ว่า การบริโภคพื้นฐานของจีนยังคงมีแนวโน้มอ่อนแอ และอาจจะสร้างปัญหาให้แก่ผู้กำหนดนโยบายของจีน
ทั้งนี้ อุปสงค์ที่อ่อนแอภายในจีนถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ผู้บริโภคจีนไม่ต้องการใช้จ่ายเงินในการซื้อสินค้ารายการใหญ่ โดยปัจจัยดังกล่าวรวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในภาวะตกต่ำมาเป็นเวลายาวนาน ความไม่มั่นคงทางการทำงาน และหนี้สินที่ระดับสูงของรัฐบาลท้องถิ่นในจีน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนก็อาจจะไม่สามารถพึ่งพาภาคส่งออกได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการส่งออกของจีนได้รับแรงกดดันจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับชาติตะวันตก, การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน และความกังวลที่ว่าอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ วันพุธ (7/8) ช่วงบ่ายศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล เพื่อหยุดยั้งการกระทำล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยก่อนหน้านี้คดีพรรคก้าวไกลหาเสียงเลือกตั้งด้วยการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพัน พร้อมกันนั้นยังมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งระหว่าง 25 มี.ค. 64-31 ม.ค. 67 เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค และห้ามไปยุ่งเกี่ยวกับการจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองใหม่ ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นหลังจากมีคำตัดสินออกมา
นอกจากนั้น นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการ่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าว่ายังมีความเปราะบาง แม้การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐจะเริ่มนำเงินไหลเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณทำให้การใช้จ่ายของรัฐกลับมาขยายตัวเฉลี่ยสูงกว่า 15% ในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567
แต่อย่างไรก็ดี อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัว สะท้อนจากยอดโอนอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2567) ชะลอตัว -8.8%, ยอดจำหน่ยรถยนต์ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2567) ชะลอตัวต่อเนื่องที่ -24% เมื่อเทียบรายปี และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้น้อย ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะทยอยกลับมาฟื้นตัว ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.01-35.54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 35.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (5/8) ที่ระดับ 1.0918/19 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/8) ที่ระดับ 1.0820/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์
ต่อมาผลสำรวจในอังคาร (6/8) ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล อยู่ที่ระดับ 50.2 ในเดือน ก.ค. ชะลอลงจากระดับ 50.9 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งสูงกว่าตัวเลขปริมาณการเบื้องต้น 50.1 และบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน แต่ยังคงถูกกดดันจากภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคส่วนหลักของเศรษฐกิจยูโรโซน ขยายตัวอย่างอ่อนแอ ประกอบกับภาคการผลิตที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง
ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน แตะที่ระดับ 51.9 ในเดือน ก.ค. ปรับตัวลงจาก 52.8 ในเดือน มิ.ย. แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมในโรงงานยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตปรับตัวลงในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในปีนี้ นอกจากนี้ ความต้องการโดยรวมทั่วยูโรโซนยังปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และปรับตัวลงในอัตราที่รวดเร็วกว่าเดือน มิ.ย. โดยดัชนีธุรกิจใหม่โดยรวมปรับตัวลงสู่ระดับ 49.0 จาก 49.4 ต่อมาในวันพุธ (7/8) สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยข้อมูล ยอดส่งออกของเยอรมนีในเดือนมิถุนายน 2567 ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
โดยสาเหตุมาจากความต้องการสินค้าที่ลดลงจาก 2 แหล่งสำคัญคือสหรัฐซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของเยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป นอกจากนี้ทางสำนักงานสถิติฯรายงานว่า เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ยอดส่งออกสินค้าของเยอรมนีในเดือนมิถุนายนลดลง 3.4% แย่กว่าคาดการณ์ที่คาดไว้ว่าจะลดลงเพียง 1.5% เท่านั้น ยอดเกินดุลการค้าระหว่างประเทศของเยอรมนีลดลงเหลือ 2.04 หมื่นล้านยูโร (2.23 หมื่นล้านดอลลาร์) จากเดิม 2.49 หมื่นล้านยูโรในเดือน พ.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.35 หมื่นล้านยูโร
นอกจากตัวเลขการค้าแล้ว สำนักงานสถิติฯยังรายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 1.4% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ยอดสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนเดียวกันนี้ก็ฟื้นตัวดีขึ้นมาก แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังเตือนว่าภาพรวมเศรษฐกิจเยอรมนียังคงน่าเป็นห่วง ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0881-1.1008 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 1.0921/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (5/8) ที่ระดับ 145.11/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (2/8) ที่ระดับ 148.88/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ต่อมาในวันจันทร์ (5/8) มีการเปิดเผยรายงานการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อวันที่ 13-14 มิ.ย. ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กรรมการ BOJ บางส่วนแสดงความกังวลต่อผลกระทบของค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง
โดยชี้ว่าส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และเพิ่มความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้ออาจสูงเกินเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ นอกจากนี้ในวันอังคาร (6/8) นายชินอิจิ อุจิดะ รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า BOJ จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน เพื่อดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป และจะไม่ปรับขึ้นอีกในช่วงที่ตลาดการเงินยังคงไร้เสถียรภาพ ประกอบกับทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยข้อมูลในวันพุธ (7/8) ว่า รัฐบาลได้ทุ่มเงิน 5.92 ล้านล้านเยน (4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อวันที่ 29 เมษายน เพื่อหนุนค่าเงินเยน
ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงครั้งใหญ่ที่่สุดภายในวันเดียว ตามมาด้วยอีก 3.87 ล้านล้านเยนในสองวันต่อมาสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ข้อมูลดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ทางการญี่ปุ่นได้ออกมายืนยันวันและปริมาณการเข้าซื้อเงินเยนและเทขายเงินดอลลาร์ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน
โดยวงเงินทั้งหมดที่ใช้ในช่วงเวลาดังกล่าวแตะ 9.79 ล้านล้านเยน ซึ่งถือเป็นสถิติเข้าซื้อเงินเยนสูงสุดเมื่อรวมทั้งไตรมาส การที่เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นเกิดความกังวล ซึ่งในขณะนั้นขู่ว่าจะใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับตลาดปริวรรตเงินตราที่มีความผันผวนมากเกินไป
ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 141.66-147.89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (9/8) ที่ระดับ 147.21/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ