กระทรวงการคลัง นัดแถลงเปิดตัว “กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง” 13 ส.ค. นี้ หวังเป็นกลไกเสริมปลุกตลาดหุ้นไทย ฟื้นกลับมาในรอบ 11 ปี
วันที่ 10 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กระทรวงการคลังมีนโยบายให้มีการระดมทุนของกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง เพื่อเป็นกลไกเสริมสร้างการออมและการลงทุนให้กับประชาชนในประเทศและส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ
โดยในวันอังคารที่ 13 ส.ค. 2567 จึงมีการส่งหมายเชิญแถลงข่าว กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เตรียมเดินหน้าเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. เพิ่มทางเลือกการออม สนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ
นำทีมแถลงโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง , นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง , ศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.)
โดย กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง หรือที่มักเรียกกันว่า กองทุนวายุภักษ์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2546-2556 ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฟื้นกลับมาในรอบ 11 ปี หลังจากยุคสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเงินทุนเริ่มต้น 500,000 ล้านบาท หนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มมากกว่า 100% จากเม็ดเงินลงทุนราว 500,000 ล้านบาท นอกจากนี้ กองทุนวายุภักษ์ ยังมีสถิติย้อนหลังที่ดี โดยเฉพาะการให้ผลตอบแทน 10 ปี (2546-2556) เฉลี่ยปีละ 15% โดยเชื่อว่าจะสามารถเรียกเม็ดเงินลงทุนได้จำนวนมาก
ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า แนวคิดการฟื้นกองทุนเพื่อการลงทุนระยะยาวในรูปแบบของกองทุนวายุภักษ์ หลักคิดสำคัญ คือ ต้องการที่จะให้มีเม็ดเงินเติมเข้าไปในตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนอีกครั้ง โดยกองทุนวายุภักษ์ มีโอกาสแบ่งออกเป็น 2 หน่วย คือ “หน่วย ก.” สำหรับนักลงทุนทั่วไป และ “หน่วย ข.” สำหรับกระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่น
ผู้ลงทุนทั่วไป (หน่วย ก.) จะได้รับผลตอบแทนจริง โดยมีขั้นตํ่า-ขั้นสูงต่อปี เป็นเวลา 10 ปี เช่น ขั้นตํ่า 3% (เท่ากับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น), ขั้นสูง 7-9% ซึ่งตอนนี้ “หน่วย ข.” มีเม็ดเงินลงทุนอยู่ 3.5 แสนล้านบาท
ถ้า ขาย “หน่วย ก.” ให้ผู้ลงทุนทั่วไป 1.5 แสนล้านบาท จะทำให้กองทุนวายุภักษ์ มีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นกองทุนที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นที่ลงทุนในหุ้นไทย ประเด็นดังกล่าวคาดได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน หรือภายในไตรมาส 3/2567
ผู้ลงทุนทั่วไป (หน่วย ก.) จะได้รับผลตอบแทนจริง โดยมีขั้นตํ่า-ขั้นสูงต่อปีเป็นเวลา 10 ปี เช่น ขั้นตํ่า 3% (เท่ากับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น), ขั้นสูง 7-9% ซึ่งตอนนี้ “หน่วย ข.” มีเม็ดเงินลงทุนอยู่ 3.5 แสนล้านบาท
ถ้า ขาย “หน่วย ก.” ให้ผู้ลงทุนทั่วไป 1.5 แสนล้าน บาท จะทำให้กองทุนวายุภักษ์มีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นกองทุนที่ใหญ่ มากเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นที่ลงทุนในหุ้นไทย ประเด็นดังกล่าวคาดได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน หรือภายในไตรมาส 3 ของปีนี้
ขณะที่หากพิจารณาในมุมหุ้นที่มีโอกาสได้รับเม็ดเงินกระตุ้น คือ หุ้นเดิมที่กองทุน วายุภักษ์ 1 ถืออยู่แล้ว อาทิ
– PTT สัดส่วน 36.3%
– SCB สัดส่วน 24.3%
– TTB สัดส่วน 4.9%
– BCP สัดส่วน 3.5%
– KTB สัดส่วน 3.3%
– AOT สัดส่วน 1.8%
– ADVANC สัดส่วน 1.6%
– GULF สัดส่วน 0.9%
– SCC สัดส่วน 0.9%
– BDMS สัดส่วน 0.9%
ซึ่งผลรวมน้ำหนักหุ้น 10 อันดับแรกที่กองทุนวายุภักษ์ถือสูงถึง 78.3% จึงทำให้มีโอกาสสูงที่จะเห็นเม็ดเงินใหม่ไหลเข้าหุ้นดังกล่าวมากกว่าหุ้นอื่น ๆ อย่างไรก็ตามต้องติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดว่ามีกฎเกณฑ์ และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ขัดต่อหุ้นเดิมหรือไม่ ซึ่งหากมีเม็ดเงินใหม่อาจไหลไปหุ้นใหม่ที่กองทุนวายุภักษ์ไม่ได้ถือก็เป็นได้