สศค.วิเคราะห์ปัจจัย “เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอย” แง่มุมผลกระทบ-ภูมิคุ้มกัน

สศค.
สศค.

สศค. วิเคราะห์สถานการณ์โลก ปมเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอย ผลกระทบต่อภาคการเงินของไทย ตลอดจนภูมิคุ้มกัน

วันที่ 10 สิงหาคม 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. ได้วิเคราะห์สถานการณ์โลกล่าสุด ถึงสัญญาณการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนมีความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยมีสัญญาณจากปัจจัย ดังนี้
1) การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐต่ำ ซึ่งส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานกำลังชะลอตัวลง และ 2) อัตราการว่างงานเดือนกรกฎาคม 2567 เพิ่มขึ้น ทำให้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวลงอย่างมาก ส่งผลให้ค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากเงินทุนไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ในเดือนสิงหาคมอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากดัชนี PMI ภาคบริการของ Institute for Supply Management (ISM) ออกมาสูงกว่าเดือนก่อนและมากกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Open Market Committee: FOMC) ได้ส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเห็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแอ

นอกจากนี้ U.S. stock index ปิดตลาดในวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากข้อมูลแรงงานที่สมเหตุสมผลช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ได้แก่ ดัชนี Dow Jones อยู่ที่ระดับ 39,446.49 จุด (+1.76%) S&P 500 อยู่ที่ระดับ 5,319.31 จุด (+2.3%) และ Nasdaq 100 อยู่ที่ระดับ 18,413.82 จุด (+2.86%)

ขณะที่ ฝั่งเอเชียในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ณ เวลา 10.00 น ดัชนี Nikkei เปิดตลาดอยู่ที่ระดับ 35,488 จุด (+1.91%) และ SET เปิดตลาดอยู่ที่ 1,306.35 จุด (+0.78%)

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 0.25 ต่อปี ส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดการเร่งการขายสินทรัพย์ หรือ Yen Carry Trade ถูกถอนออก (Unwind) จึงเห็นสินทรัพย์เสี่ยงถูกเทขาย ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดการเงินโลกผันผวน

ADVERTISMENT

ผลกระทบต่อภาคการเงินของไทย

นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะ Risk off และหันไปถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่งผลให้มีโอกาสที่จะมีเงินทุนไหลออกจากกลุ่มประเทศ Emerging countries มากขึ้น ในขณะเดียวกัน การคาดการณ์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐในช่วงเดือนกันยายนและธันวาคม 2567 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อตลาดตราสารหนี้ของไทยให้มีเงินทุนเข้ามาในประเทศมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หากมีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ไทยมาจะเป็นแรงหนุนให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น

ภูมิคุ้มกันของประเทศไทย

สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ล่าสุด ณ เดือน มิ.ย. 67 อยู่ที่ร้อยละ 63.54 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าร้อยละ 70 ของ GDP สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ อยู่ที่ร้อยละ 26.39 ซึ่งไม่เกินเพดานที่ก่าหนดไว้ที่ร้อยละ 35 สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ โดยล่าสุดอยู่ที่เพียงร้อยละ 1.19 ของหนี้สาธารณะทั้งหมด ซึ่งไม่เกินเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้ร้อยละ 10

ADVERTISMENT

ขณะที่สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ณ เดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 2.01 เท่า ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเพื่อรองรับความเสี่ยงสภาพคล่องให้ไม่ต่ำกว่า 1 เท่า สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio: CAR) และสัดส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง ณ เดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 20.2 และ 16.7 ตามลำดับ ซึ่งยังคงสูงกว่าเกณฑ์เงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่อย่างน้อยร้อยละ 11 ของสินทรัพย์เสี่ยง

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้เร่งรัดให้เกิดการทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) กับทางสหภาพยุโรป (EU) นอกจากนี้ ทางด้านการลงทุนทางรัฐบาลไทยได้เร่งส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยล่าสุดโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติ ทั้งสิ้น 913 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 359,787 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบ กับปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่ามีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 62 มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 40

โดยรัฐบาลไทยมุ่งพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกในด้านต่าง ๆ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เป็นนโยบายที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยและเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการดำเนินนโยบายนี้อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล และสร้างความมั่นคงและภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ ล่าสุด ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เปิดตัวโครงการ Ignite Finance ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการเงิน ระดับโลก โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างระบบนิเวศน์ทางการเงินให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้น สร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ และส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นและมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม