ศึกชิง “VirtualBank” เดือด KTB ผนึก AIS-GULF-OR เต็ง 1

โค้งสุดท้าย Virtual Bank ธปท.ดีเดย์ขีดเส้นตายคำขออนุญาตจัดตั้งภายใน 19 ก.ย.นี้ “กรุงไทย” ลั่นยื่นแน่ต้น ก.ย. ผนึกพันธมิตร “AIS-กัลฟ์” ลุยกลุ่มเป้าหมาย “นอกระบบ” ขณะที่ “SCBX” แท็กทีมพาร์ตเนอร์ธนาคารดิจิทัลชื่อดังจาก “เกาหลี-จีน” ส่วน “ซี.พี.” ใช้พันธมิตร “ทรูมันนี่” ด้าน “แบงก์กรุงเทพ” ยังไม่เคลียร์ร่วมทุน BTS เผยแบงก์ชาติตั้งเป้าให้ใบอนุญาตชุดแรก 3 รายเท่านั้น เพื่อดูแลได้ทั่วถึง ขณะที่คลังอยากให้เปิดเสรี โบรกฯ 2 เจ้าใหญ่ ยก “KTB-SCB-C.P.” มีโอกาสสูงคว้าไลเซนส์รอบแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ใกล้เข้าสู่เดือนสุดท้ายของการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ผู้ที่สนใจยื่นคำขอจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) หลังจากเปิดให้ยื่นคำขอมาตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา และจะปิดรับคำขอในวันที่ 19 ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะพิจารณาคัดเลือก โดยคาดว่าจะประกาศผลได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ซึ่งรอบนี้ ธปท.จะอนุญาตเพียง 3 รายก่อน และคาดจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ประมาณเดือน มิ.ย. 2569

“กรุงไทย” ดีเดย์ยื่นต้นเดือน ก.ย.

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารจะยื่นคำขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนครบกำหนด โดยกรุงไทยจะทำงานร่วมกับพันธมิตร อาทิ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) หรือ AIS ที่มีฐานลูกค้ามากกว่า 40 ล้านคน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมมือกันทั้งในเรื่องของพลังงานสะอาด ข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) รวมถึง Ecosystem และ Data Center ต่าง ๆ

พาร์ตเนอร์ตอบโจทย์ “ดาต้า”

ทั้งนี้ Virtual Bank ถือเป็นอีก 1 เครื่องมือในการให้บริการคนที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ ถ้าทำแล้วเหมือนเดิม หรือทำเพื่อแข่งขันกับผู้เล่นรายเดิม คงไม่มีประโยชน์ ดังนั้น Virtual Bank จะต้องเข้ามาช่วยให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และตอบโจทย์การลดความเหลื่อมล้ำที่ประเทศไทยมี โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบที่มีสูงถึง 50% ของ GDP

“คนกลุ่มที่อยู่นอกระบบ เราไม่มีข้อมูล ดังนั้น คุณภาพของข้อมูลทางเลือกและความปลอดภัยจะสำคัญมาก โดยเราจะต้องดูว่ากลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน จะเข้าถึงได้หรือไม่ และการติดตามหนี้จะทำอย่างไรในช่วงที่ไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ธนาคารต้องคิดภาพเหล่านี้ให้ออก

เรามีต้นทุนอยู่ 10,000 ล้านบาท เป็นเงินที่ไม่ใช่น้อย ภายใต้หนี้ครัวเรือน 90-91% ของ GDP เราจะหาเงินฝากได้อย่างไร ตอบโจทย์ในเรื่องของความคล่องตัว ซึ่งพาร์ตเนอร์เราจะต้องมีมิติที่เราไม่มีศักยภาพ เพื่อปิด Gap ที่ลึกเพียงพอ เช่น บ้านคนนี้อยู่ตรงนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องมีข้อมูล เพื่อให้การเข้าถึงการติดตามหนี้” นายผยงกล่าว

Advertisment

บอร์ดไฟเขียว OR ร่วมขบวน

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริษัทได้มีมติให้โออาร์จับมือกับพันธมิตร อย่างธนาคารกรุงไทย และเอไอเอส จัดตั้งบริษัทร่วมทุนยื่นสมัครขอใบอนุญาต Virtual Bank แล้ว ตอนนี้จึงสามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าสัดส่วนถือหุ้นเท่าไหร่ เพราะจะลงนามและแถลงข่าวร่วมกันอีกครั้ง

“ชาติศิริ” ตอบไม่ชัดร่วมทุน BTS

ขณะที่นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวตอบคำถามกรณีธนาคารกรุงเทพ จะเข้าร่วมทุนกับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ในการจัดตั้ง Virtual Bank หรือไม่ ว่าตอนนี้ยังไม่ได้บอกว่าธนาคารจะทำหรือไม่

Advertisment

แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารต้องปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง และต้องทรานส์ฟอร์มให้สำเร็จ เพราะทุกวันนี้ Digitalization กลายเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว รวมถึงสภาพตลาดก็มุ่งไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น

SCBX ผนึกพันธมิตร “เกาหลี-จีน”

ด้านบริษัท เอสซีบีเอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX ที่ผ่านมาประกาศความร่วมมือกับ KakaoBank ธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ จัดตั้ง Consortium ขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank

และต่อมายังประกาศจับมือ WeBank ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน เข้ามาเป็นพันธมิตรเพิ่มเติมอีกราย โดยเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยี ที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพ Consortium

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX ระบุว่า เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ และมีความคล่องตัว จะเป็นรากฐานที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้ Virtual Bank ประสบความสำเร็จ ซึ่ง WeBank เป็นธนาคารดิจิทัลชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง

ซึ่งจะนำประสบการณ์ระดับโลกและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสู่ประเทศไทย เพื่อเข้ามาช่วยขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ให้กับกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ หรือยังไม่ได้รับบริการทางการเงินที่ดีเพียงพอ

“ซี.พี.” ใช้พันธมิตร “ทรูมันนี่”

ส่วนเครือ ซี.พี. หรือบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นอีกกลุ่มที่จะยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank เช่นกัน ที่ผ่านมา นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม ซี.พี. ระบุว่า กลุ่ม ซี.พี.เตรียมความพร้อมในการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank โดยอาศัยพันธมิตรธุรกิจของ “ทรูมันนี่” (truemoney) ที่มีความร่วมมือกันอยู่แล้ว

เปิดเงื่อนไขทุน 5,000 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า ที่ผ่านมามีผู้เล่นที่สนใจในการยื่นคำขอ โดยธนาคารกรุงเทพที่มีกระแสข่าว แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะผนึกกำลังกับกลุ่ม BTS หรือไม่ ซึ่งหลังปิดรับคำขอในวันที่ 19 ก.ย.นี้แล้ว ทาง ธปท.และกระทรวงการคลัง จะใช้ระยะเวลาพิจารณา 9 เดือน ก่อนประกาศผลช่วงเดือน มิ.ย. 2568

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส มองว่า การยื่นขอจัดตั้ง Virtual bank ใกล้เข้าช่วงโค้งท้ายเริ่มเห็นผู้สนใจมากขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของโลกเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น

ส่วนใครจะได้บ้างยังต้องจับตา ซึ่งมีเงื่อนไขต้องมีทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ณ วันเปิดดำเนินการ และเพิ่มสู่ 10,000 ล้านบาท เพื่อเข้าสู่การให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ ภายใน 3-5 ปี

“เอเซีย พลัส” ยก KTB เต็งหนึ่ง

ทั้งนี้ หากอิงตามรายชื่อที่มีกระแสข่าว มองว่ามีความพร้อม เพียงแต่ในช่วงแรก ธปท.มีโอกาสที่จะให้ใบอนุญาตเพียง 3 ราย แม้ว่าในประกาศกระทรวงการคลังไม่ได้จำกัดใบอนุญาต เพื่อให้การกำกับดูแลทั่วถึง ทำให้กลุ่มที่มีแผนธุรกิจในการเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัล โดยเฉพาะการเข้าถึงกลุ่ม Unserved/Underserved ผ่านการใช้ฐานข้อมูลที่หลากหลาย จะมีความได้เปรียบ

รายงานจาก บล.เอเซีย พลัส ชี้ว่า ฝ่ายวิจัยมองว่ากลุ่ม KTB หรือธนาคารกรุงไทย ค่อนข้างมีความพร้อมมากกว่าผู้สนใจรายอื่น ทั้งฐานข้อมูลแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง และจากผู้ให้บริการอื่น ๆ อย่าง ADVANC (AIS) และ OR (บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก)

จับตากลุ่ม SCB-BBL

ขณะที่ผู้สนใจอื่น อย่างกลุ่ม SCB ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสูง และมีโมเดลในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินของพันธมิตร Virtual Bank ต่างชาติ แต่การจับมือกับ Virtual Bank ต่างชาติ อาจส่งผลให้ฐานข้อมูลไม่ได้แตกต่างจากฐานข้อมูลเดิมที่ SCB มีอยู่ จึงประเมินไม่เด่นเท่ากับกลุ่ม KTB

ส่วนกรณี BBL ยังต้องติดตามการยืนยันอย่างเป็นทางการต่อไป แต่ถือว่าเป็นการปรับตัวพอสมควร ภายใต้สินเชื่อรายย่อยปัจจุบัน ส่วนใหญ่คือสินเชื่อบ้านและบัตรเครดิต

เจาะประเด็น Virtual Bank

นายตฤณ สิทธิสวัสดิ์ นักวิเคราะห์กลุ่มธุรกิจการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาติธุรกิจ” ว่า หาก Virtual Bank จะประสบความสำเร็จได้ในประเทศไทย โดยอ้างอิงกรณีในต่างประเทศ จะมีด้วยกัน 3 เรื่องหลัก คือ 1.ความพร้อมเงินทุน ซึ่งประเด็นนี้แต่ละกลุ่มที่เปิดตัวจะยื่นขอจัดตั้ง Virtual Bank มีเงินทุนหนาอยู่แล้ว

2.ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสูง ซึ่งการดำเนินการ Virtual Bank ส่วนใหญ่คาดหวังว่าจะไม่มี Fixed Cost ที่มากเหมือนกับธนาคารดั้งเดิม (Traditional) เพราะไม่ต้องมีสาขาและตู้ ATM เนื่องจากระบบต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Blockchain, Cloud เพื่อที่จะลดจำนวนพนักงานให้สามารถที่จะมีต้นทุนในการให้บริการได้ต่ำลง เพื่อสามารถให้บริการกับลูกค้าในกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าเดิมของธนาคาร

“KTB-SCB” ต่างมีจุดแข็ง

“เทคโนโลยีจะเป็นเรื่องสำคัญ กลุ่มที่มีเทคโนโลยีเด่น ๆ ก็จะได้เปรียบ อย่างเช่นกลุ่ม SCB ที่มีพันธมิตร KakaoBank จากเกาหลีใต้ และ WeBank จากจีน ซึ่งมีโมเดลที่ประสบความสำเร็จการทำธุรกิจในแถบเอเชียอยู่แล้ว จึงน่าจะปรับใช้กับการทำธุรกิจในประเทศไทยได้”

และ 3.ความพร้อมด้านฐานลูกค้า ซึ่งประเด็นนี้มี 2 มิติคือ 1.จำนวนคน และ 2.การทำความเข้าใจลักษณะของลูกค้า ซึ่งหากกลุ่มใดเข้าใจลูกค้า โดยมีข้อมูลลูกค้าคนเดียวกัน แต่เข้าใจได้หลายมิติ ก็จะได้เปรียบ ซึ่งกลุ่มที่ทำได้ดีคือ KTB+OR+ADVANC+GULF ซึ่งฐานลูกค้าแบงก์มีมาก

ทั้งลูกค้า KTB หรือผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่าง krungthai NEXT ซึ่งมีข้อมูลค่อนข้างมาก ประกอบกับมีข้อมูลจากธุรกิจเทเลคอม ซึ่งในต่างประเทศผู้ประกอบการที่ทำ Virtual Bank สำเร็จ ส่วนใหญ่จะมีพาร์ตเนอร์เป็น Telco หรือว่าธุรกิจเทเลคอม

3 กลุ่มตัวเต็งคว้าไลเซนส์

นายตฤณกล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่ม BTS มีกระแสข่าวว่าจะร่วมกับพันธมิตร BBL ยื่นขอไลเซนส์ด้วยนั้น มองว่าก็มีโอกาส แต่ว่ากลุ่มเป้าหมายของ BBL อาจจะไม่ได้มีพอร์ตลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก โดยธุรกิจเด่นเรื่องลูกค้ารายใหญ่และเอสเอ็มอีมากกว่า ขณะที่ฐานลูกค้า VGI ผ่านบัตรแรบบิทจะค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ที่แบงก์ BBL

ดังนั้น สเกลความได้เปรียบข้อมูลลูกค้า ถ้าเทียบกับกลุ่ม KTB และกลุ่ม SCB อาจจะได้เปรียบน้อย ดังนั้น ถ้ายื่นไลเซนส์ก็อาจจะอยู่ในระดับ 3 หรือหลุดไปช่วงแรก เพราะระยะแรก ธปท.เปิดให้แค่ 3 ไลเซนส์

“อีกกลุ่มที่น่าจะมีโอกาสติด 1 ใน 3 คือ กลุ่มแอสเซนด์ มันนี่ ในเครือ C.P. เพราะมีฐานลูกค้ามาจากลูกค้าเซเว่นฯ และเทเลคอมจาก TRUE และทาง MUFG กลุ่มธนาคารใหญ่จากญี่ปุ่น บริษัทแม่ของธนาคารกรุงศรีฯ เข้าถือหุ้น 10% ของ Ascend Money เจ้าของ Truemoney ดังนั้น กลุ่ม KTB กลุ่ม SCB และกลุ่ม C.P. น่าจะเป็น 3 ตัวเต็ง”

มองเปิดใหม่แข่งไม่รุนแรง

นักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า กล่าวอีกว่า ช่วงแรกของการแข่งขันจะผ่าน Sandbox อยู่ในระดับการทดลอง
ไม่ได้ฟูลสเกลแข่งขันรุนแรง เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมโดยแบงก์ชาติ ทั้งในแง่การออกโปรดักต์และการแข่งขันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการตัดราคามากเกินไป เพราะแบงก์ชาติต้องการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจใหม่กับธุรกิจเดิม

คาดว่าการแข่งขันเร็วที่สุดคือ การปล่อยสินเชื่อไม่มีหลักประกันผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เหมือน Digital Loan ในปัจจุบัน วงเงินกู้ต่อราย 10,000-20,000 บาท ดอกเบี้ย 25% ต่อปี สำหรับสินเชื่อบุคคล และดอกเบี้ย 36% ต่อปี สำหรับนาโนไฟแนนซ์

แต่ต่อไปผู้ให้บริการจะเปลี่ยนเป็น Virtual Bank อย่างตอนนี้จะมีดิจิทัลแบงก์ เช่น เงินทันเดอร์ของ SCB แต่ต่อไปจะเปลี่ยนเป็นกลุ่ม Virtual Bank และลูกค้าของเงินทันเดอร์หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มในปัจจุบันที่ต้องใช้สเตตเมนต์ มีกระบวนการพิจารณาที่เข้มงวดกว่า

คาดยอมขาดทุน 2-3 ปีแรก

อย่างไรก็ตาม ถ้า Virtual Bank มาทำแล้วเน้นความเร็ว เช่น มีแค่บัตรประชาชน มี NDID สามารถดำเนินการสมัคร หรือการขอสินเชื่อได้เร็ว ก็จะเป็นหนึ่งความสามารถในการแข่งขันที่เสนอเข้ามาใหม่ในตลาด โดยดอกเบี้ยก็น่าจะแข่งกันในกรอบ 20-30% ต่อปี เพื่อให้ต่ำกว่า Traditional Product

“คาดว่า 2-3 ปีแรก Virtual Bank น่าจะขาดทุน และค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามขนาดของฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น ส่วนหนี้เสีย (NPL) ช่วงแรกคงไม่มาก แต่ก็ต้องตั้งสำรองก่อน ตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ ในต่างประเทศระดับ NPL ก็ประมาณ 1-2% แต่ทำธุรกิจในไทยก็ไม่รู้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือมีช่วงที่ต้องปรับตัว”